ตรัง 15 ก.พ. – เด็กช่างรุ่นใหม่ไม่ได้เก่งเฉพาะวิชาช่างอุตสาหกรรม แต่สามารถนำวัตถุดิบในชุมชนมาคิด วิจัยต่อยอดจนได้นวัตกรรมใหม่ “ดินปลูกจากเปลือกกุ้ง” แก้ปัญหาขยะชุมชน และเป็นทางเลือกแก่เกษตรกรที่จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์มีคุณภาพ
นายเฉลิมศักดิ์ ทองเนื้ออ่อน ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง พร้อมด้วยนายวิชาญ เส้งซ้าย อาจารย์แผนกวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง พร้อมนักศึกษาแผนกวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง นำผู้สื่อข่าวดูโรงเรือน และแปลงเกษตรผสมผสานตามโครงการชีววิถี เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน “น้อมนำ สืบสาน ปณิธานงานของพ่อ” ซึ่งเป็นแปลงเกษตรที่อาจารย์และน้อง ๆ นักศึกษาร่วมกันทำขึ้นมา ที่มีทั้งการทำปุ๋ยอินทรีย์, เลี้ยงเป็ด ไก่ไข่, การประมงเลี้ยงปลาดุก ด้วยบ่อปลาพลาสติกขนาดเล็ก และการทำเกษตรอินทรีย์
ล่าสุด สามารถวิจัยคิดค้นสูตรการทำดินปลูกจากเปลือกกุ้งจนประสบความสำเร็จ โดยการนำเปลือกกุ้งขยะที่มีจำนวนมากในพื้นที่ มาศึกษา คิดค้นวิจัยสูตร โดยมีส่วนผสมที่สำคัญ คือ เปลือกกุ้ง มูลสัตว์ แกลบดำ ขุยมะพร้าว รำข้าว หน้าดินคุณภาพ หญ้าแห้งหรือกากเตยหอมที่มีคนปั่นเอาน้ำไปแล้ว เอาทั้งหมดมาผสมกัน โดยใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ที่ได้จากการหมักสัตว์ทะเล นำไปเป็นส่วนผสมไปคลุกเคล้ากับส่วนผสมอื่น ๆ ข้างต้น จะได้หัวเชื้อ จากนั้นนำหัวเชื้อไปหมักไว้ 10 วัน เมื่อครบกำหนด จากนั้นคลุกเคล้ากับหน้าดินหมักต่ออีก 10 วัน หากไม่ครบดินจะร้อน ทำให้ต้นไม้ตาย ต้องให้ครบ 20 วัน ดินจะเย็นและร่วนซุย จากนั้นนำมาบรรจุถุง 5 กิโลกรัม ราคาถุงละ 30 บาท กลายเป็นผลิตภัณฑ์ฝีมือของอาจารย์และน้อง ๆ นักศึกษาวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง จนชนะการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่เป็นวิธีการกำจัดขยะที่ถูกวิธีและเกิดประโยชน์กลายเป็นทางเลือกให้แก่ชาวสวน ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี. -สำนักข่าวไทย