สงขลา 1 ก.พ. – อดีตข้าราชการครูผันตัวเป็นเกษตรกร เลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ “หอยเชอรี่สีทอง” ทำคู่กับเกษตรผสมผสาน เลี้ยงง่าย ลงทุนน้อย ขายได้ราคา ทำเมนูได้หลากหลาย
นางรัชดา และนายไพบูลย์ เพ็ชร์ชระ สองสามีภรรยา วัย 66 ปี อดีตข้าราชการครู ใช้ชีวิตหลังเกษียณผันตัวเป็นเกษตรกร โดยใช้พื้นที่สวนยางที่บ้านทรายขาว หมู่ 6 ต.ทุ่งหวัง อ.เมือง จ.สงขลา เลี้ยงหอยเชอรี่สีทอง เป็นเจ้าแรกของเมืองสงขลา ควบคู่กับการทำการเกษตรผสมผสาน ปลูกสละอินโดร่วมกับยางพารา และเลี้ยงชันโรงในสวน
ครูดา กล่าวว่า หอยเชอรี่สีทองเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่เลี้ยงง่าย ลงทุนน้อย กินได้ ขายได้ราคา จึงสนใจนำมาเลี้ยง โดยสั่งซื้อพ่อแม่พันธุ์หอยเชอรี่สีทอง 60 คู่ รวม 120 ตัว เลี้ยงในบ่อซีเมนต์ ประมาณ 30 – 40 เซนติเมตร ไม่ถึงเดือน หอยตัวเมียก็เริ่มวางไข่ จากนั้นจึงได้เลี้ยงขยายพันธุ์ต่อไปเรื่อยๆ เลี้ยงง่าย ให้พืชผักหรือใบไม้ต่างๆ ที่หาได้ในครัวเรือน เช่น แตงกวา ใบตำลึง ใบมะละกอ ใบมันสำปะหลัง เป็นอาหาร และเสริมด้วยให้อาหารเม็ดปลาดุกเล็กเพียง 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และเปลี่ยนน้ำทุก ๆ 5 วัน
หอยเชอรี่เมื่อผสมพันธุ์ก็จะขึ้นมาวางไข่บริเวณผนังบ่อ ก็จะแกะเก็บไข่หอยที่เกาะอยู่ข้าง ๆ บ่อไปอนุบาลในบ่อแยก ประมาณ 14 วัน ฟักตัว ในช่วงเดือนแรก ยังไม่ต้องให้อาหาร ให้แค่แหนแดงหรือพืชน้ำเป็นอาหารก็พอ
จากนั้นก็แยกเลี้ยงในบ่อขุด และเริ่มให้อาหารเป็นอาหารเม็ดปลาดุกขนาดเล็กสัปดาห์ละครั้ง และแหนแดง พืชน้ำ พืชใบต่าง ๆ วันละ 1 ครั้ง เลี้ยงประมาณ 4 เดือน โตเต็มที่ มีเนื้อเยอะ นุ่ม ไม่เหนียว ทำเมนูหลากหลาย เช่น ลวก จิ้ม แกง ใส่ส้มตำ และยังขายพ่อแม่พันธุ์ได้ด้วย ขายได้ตั้งแต่ไข่หอย ตัวหอยขนาดเท่าเหรียญห้า ตัวละ 8 บาท ขนาดเท่าเหรียญสิบ ตัวละ 10 บาท ส่วนพ่อแม่พันธุ์ขายคู่ละ 60 บาท ส่วนใหญ่ลูกค้าสั่งจองเพื่อซื้อเป็นพ่อแม่พันธุ์ จนตอนนี้ไม่พอขาย. – สำนักข่าวไทย