ภูมิภาค 14 ต.ค. – หลายพื้นที่น้ำท่วมยังน่าห่วง ที่ชัยนาท น้ำกัดเซาะถนนคลองมหาราชขาดยาวกกว่า 40 เมตร ส่วนชาวบ้านริมแม่น้ำน้อย จ.อ่างทอง ข้องใจไม่เปิดประตูระบายน้ำ
เขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบายน้ำขึ้นเป็น 3,180 ลบ.ม./วินาที ก่อนที่เช้าวันนี้จะลดการระบายลง ส่งผลให้น้ำที่ท่วมบ้านบางกระเบียน ม.12 ต.ตลุก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท กัดเซาะถนนคลองมหาราช ขาดเป็นทางยาวกว่า 40 เมตร กระแสน้ำไหลพัดบ้านเรือน 2 หลังพังเสียหาย และรถยนต์ 1 คัน ที่กำลังขับมาบนถนน ตกลงไปในน้ำ ชาวบ้านที่พายเรือมาถูกกระแสน้ำพัดไปติดคันคลองอีกฝั่ง
ชาวบ้านริมแม่น้ำน้อยข้องใจไม่เปิดประตูระบายน้ำ
สภาพประตูระบายน้ำคลองสาหร่าย อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ซึ่งรับน้ำจากแม่น้ำน้อย ถูกปิดบานประตูจนมิด ทั้งที่ระดับน้ำด้านหน้าคลองและหลังคลองมีความต่างกันกว่า 2 เมตร ทำให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ออกมาเรียกร้องให้ชลประทาน ชี้แจงสาเหตุบริหารจัดการน้ำ โดยชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำน้อยได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งจำนวนมาก แต่ประตูน้ำเกือบทุกแห่งกลับถูกปิดไม่ให้น้ำไหลออกทุ่ง ส่วนชาวบ้านตำบลสามง่ามหลายหมู่บ้าน ถูกน้ำจากแม่น้ำน้อยเอ่อท่วมสูง จนต้องใช้เรือในการเดินทางเข้าออกบ้านเรือบางจุดสูงกว่า 1 เมตร และยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดเขื่อนเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาท ยังระบายน้ำต่อเนื่อง
รพ.อุทัยธานี น้ำท่วมหนัก
เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอุทัยธานีและจิตอาสา เร่งนำกระสอบทรายกั้นเป็นแนวยาวบริเวณทางเข้าโรงพยาบาล ใช้เครื่องสูบน้ำหลายเครื่อง เร่งสูบน้ำที่ท่วมขังออกจากพื้นที่ฯ ล่าสุดสามารถสูบน้ำออกไปเกือบแห้งสนิท แต่การนำผู้ป่วยหนักเข้า-ออกยังมีอุปสรรค ต้องขนย้ายลงจากรถพยาบาล ก่อนนำผู้ป่วยส่งเข้าหอผู้ป่วยฉุกเฉิน ขณะที่ด้านนอกหน้าโรงพยาบาล ยังมีน้ำท่วมขังผิวจราจร บริเวณถนนสาย 333 ช่วงตั้งแต่หน้าโรงพยาบาลอุทัยธานี ถึงบริเวณโชวรูมโตโยต้า ยังมีน้ำที่หลากจากอ่างเก็บน้ำทับเสลา อ.ลานสัก ที่หลากตามลำห้วย จาก อ.ลานสัก อ.หนองฉาง อ.หนองขาหย่าง ผ่านถึง อ.เมืองอุทัยธานี มีน้ำที่เอ่อล้นลำห้วย หลากเข้าท่วม บางจุดไหลข้ามผิวจราจร เจ้าหน้าที่ของกรมทางหลวงและตำรวจ ต้องนำกรวยจราจรไปตั้งเป็นสัญลักษณ์ให้รถยนต์ จักรยานยนต์ ที่สัญจรผ่าน หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีน้ำท่วมสูง
เด็กปิดเทอมพลิกวิกฤติ น้ำท่วมจูงเรือให้นักท่องเที่ยว
ที่วัดพระงาม หมู่ 4 ต.คลองสระบัว จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่า ระดับน้ำที่ท่วมกว่า 1 เมตร และบ้านเรือนโดยรอบ มีน้ำท่วมสูงเกือบ 1 เมตร มีนักท่องเที่ยวแต่งชุดไทยจำนวนมาก พากันนั่งเรือที่ชาวบ้านลากจูง เข้าไปยังบริเวณซุ้มประตูโบราณที่มีตำนานเรียกว่า “ประตูกาลเวลา” วัดพระงาม โดยส่วนใหญ่คนที่ลากจะเป็นเด็กๆ ที่อยู่ในชุมชนใกล้กับวัด โดยชาวบ้านจะเรียกเก็บค่าโดยสารอยู่ที่หัวละ 100 บาท น้องๆ ที่รับจ้างจะเข็นเป็นระยะทางกว่า 200 เมตร ถึงประตูกาลเวลา ตลอดทั้งวันมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาให้พาไปยังประตูกาลเวลา เพื่อถ่ายภาพ ทำให้เด็ก ๆ ที่ปิดเทอม มีรายได้ช่วงน้ำท่วม.-สำนักข่าวไทย