รัฐสภา 26 ก.ค.-รัฐสภามีมติถอนร่างกม.ลูกเลือกตั้งส.ส. ให้กมธ.กลับไปทบทวนใหม่ หลังสูตรหาร 500 ขัดมาตราที่เหลือ
การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หลังจากนายชวน หลีกภัย ประธานการประชุมสั่งพักการประชุม เพื่อให้กรรมาธิการฯ ปรึกษาหารือ เพื่อแก้ไขมาตราอื่นที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 23 ว่าด้วยสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ มีการแก้ไขตามการสงวนคำแปรญัตติของนพ.ระวี มาศฉมาดล ในฐานะฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย ที่ให้ใช้สูตรหาร 500 ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขมาตราอื่น สอดคล้องกับมติของที่ประชุมรัฐสภา
บรรยากาศในห้องประชุมเกือบ 2 ชั่วโมง ทั้งกรรมาธิการฯ และสมาชิกถกเถียงถึงประเด็นปัญหาของการลงมติในมาตราที่ 23 ส่งผลกระทบต่อมาตราที่เหลือ จนไม่สามารถพิจารณาต่อในมาตราอื่นได้ ทำให้นายสาธิต ปิตุเตชะ ประธานกรรมาธิการฯ ลุกขึ้นชี้แจงหลังสมาชิกถกเถียงกัน โดยยืนยันว่ากมธ.ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ที่ผ่านมากมธ.ทำงานอย่างหนัก และลงมติเสียงข้างมากของ ม.23 โดยใช้สูตรหาร 100 แต่เมื่อเข้าสู่รัฐสภา กลับมามีมติตามกมธ.เสียงข้างน้อย
“ผมพยายามยืนยันมาตลอดว่า การทำเช่นนี้เป็นการก้าวก่าย กมธ.หรือไม่ และมองว่าปัญหาจะตามมาแน่นอน ซึ่งก็เกิดขึ้นจริง ดังนั้น รัฐสภาต้องรับผิดชอบ เพราะเคยเตือนไปแล้วว่าขอให้คิดให้รอบคอบก่อนลงมติ ซึ่งตลอดช่วงเช้าถกเถียงกันมาพอสมควร และมองว่าม.24 แม้ไม่แก้ไข แต่เมื่อกลับมติในม.23 ย่อมมีผลกระทบกับมาตราที่เหลือ จึงมี 2 ทางออก คือแนวทางให้กมธ.ขอถอนร่างออกไปก่อน เพื่อนำไปแก้ไขให้สอดคล้อง แล้วนำกลับมาใหม่ โดยพิจารณาต่อในมาตราที่เหลือ และเดินหน้าพิจารณาลงมติต่อไป” นายสาธิต กล่าว
จากนั้น ที่ประชุมได้ฟังความเห็นจากกมธ.ว่าจะใช้แนวทางใด จนท้ายที่สุด นายสาธิตขอเสนอถอนร่างกมธ.ออกไปก่อน
นายนิโรธ สุนทรเลขา ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ขอให้กมธ.รู้หน้าที่ว่ารัฐสภามีมติอย่างไร ต้องยอมรับ ไม่ใช่เอาความรู้สึกมาตัดสินเช่นนี้
จากนั้น นายชวนได้ขอมติว่าจะถอนร่างของกมธ.ตามที่นายสาธิตเสนอหรือไม่ จนท้ายที่สุด ที่ประชุมรัฐสภามีมติเห็นชอบ 476 ต่อ 25 เสียง งดออกเสียง 20 เสียง ไม่ลงคะแนน 9 เสียง ส่งผลให้ที่ประชุมเห็นด้วยให้ถอนร่างกมธ.ออกไป เมื่อพิจารณาแล้วเสร็จให้นำกลับมาพิจารณาในมาตราที่เหลือต่อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังลงมติ นายสาธิตนัดประชุมค่ำนี้ เพื่อให้เสร็จและเสนอในวันพรุ่งนี้(27 ก.ค.) แต่กรรมาธิการฯ เห็นว่าต้องพิจารณาให้รอบคอบ ควรนำมาพิจารณาต่อในวันจันทร์ ก่อนนำเข้าสู่การประชุมร่วมรัฐสภาในสัปดาห์หน้า ระหว่างวันที่ 2-3 สิงหาคม จากนั้น ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเข้าสู่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จะพิจารณาทั้งหมด 13 มาตรา โดยมีประเด็นที่ถกเถียงเรื่องการทำไพรมารีโหวต.-สำนักข่าวไทย