ทำเนียบรัฐบาล 12 ก.ค.-“จุรินทร์” สั่งปรับลดราคาน้ำมันปาล์มขวดสัปดาห์นี้ ย้ำต้องสอดคล้องต้นทุนใหม่ หลังปาล์มดิบราคาลดลง รับผู้ประกอบการนมขอปรับราคาเพิ่ม แต่ยังไม่อนุญาต
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีราคาน้ำมันปาล์มขวด สวนทางราคาผลปาล์มดิบในตลาดที่ลดลง ว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาราคาผลปาล์มปรับตัวสูงขึ้น 12 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเกษตรกรได้รับประโยชน์สูงมาก แต่ในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา ราคาผลปาล์มปรับลดลงเนื่องจากอินโดนีเซียหันมาเร่งรัดส่งออกอีกครั้ง มีผลทำให้ราคาในตลาดโลกปรับลดลง ทำให้ราคาผลปาล์มปรับลดลงมาในช่วงเวลานี้
“ส่วนที่ราคาน้ำมันปาล์มบริโภคสูงนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามมาตลอด และราคาน้ำมันปาล์มขวดบริโภคยังทรงอยู่ เนื่องจากเป็นสต๊อกเดิมที่รับซื้อมาในราคาที่ผลปาล์มสูงมากและสกัดเป็นน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มขวดในช่วงต้นทุนที่สูง ซึ่งสั่งการไปก่อนหน้านี้ให้ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด และปรับลดราคาน้ำมันปาล์มขวดบริโภคลงให้สอดคล้องกับต้นทุนใหม่ให้เร็วที่สุด ซึ่งคาดว่าในห้วงสัปดาห์นี้จะปรับลดราคาลงได้สอดคล้องกับต้นทุนใหม่ที่เกิดขึ้น ผมพยายามดูแลผลประโยชน์ของทุกฝ่ายให้ดีที่สุด ยึดผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก ขออย่ากังวล อย่างใน win win model ที่จะดูแลทางเกษตรกร ผู้ประกอบการผู้ผลิต และผู้บริโภคให้อยู่ร่วมกันได้ เป็นภาระของแต่ละฝ่ายให้น้อยที่สุด และเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายให้ได้มากที่สุด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
นายจุรินทร์ ยอมรับว่า ผู้ประกอบการนมขอปรับราคานมผง และนมพร้อมดื่ม UHT และพาสเจอร์ไรส์ แต่กระทรวงพาณิชย์ยังไม่อนุญาต จะพยายามตรึงไว้ให้ได้นานที่สุดจนกว่าจะอั้นไม่อยู่จริง ๆ เมื่อต้นทุนปรับสูงขึ้นไปจนกระทั่งผู้ประกอบการไม่สามารถผลิตต่อได้ ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาของขาดตลาด ซึ่งต้องทำให้เกิดความสมดุลที่สุด ที่ผ่านมาได้ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ แต่ต้องดูด้วยเหตุด้วยผลแต่ละกรณี ส่วนไหนจำเป็นที่ต้นทุนสูงขึ้นจริงก็ต้องพิจารณา โดยจะใช้เป็นกรณีเฉพาะ ไม่ใช่ปรับราคาทั้งหมด โดยไม่ดูว่าต้นทุนสูงขึ้นจริงหรือไม่ แต่ในภาพรวมต้องยอมรับว่าขณะนี้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นจริง จากราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น ทั้งค่าน้ำมันค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและภาคการขนส่งสูงขึ้นตาม แต่พยายามดูว่าจะทำอย่างไรให้กระทบปลายทาง ภาคการผลิตให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีขึ้นในช่วงระยะหลังนี้
“ส่วนเรื่องพลังงานเป็นภารกิจที่กระทรวงพลังงานเป็นตัวหลักดำเนินการ ถ้าเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคในภาพรวมกระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปดูว่าจะต้องรับมืออย่างไร แต่ในภาคการผลิต หลายกระทรวงเกี่ยวข้อง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีแผนงานเดินหน้าตลอดปี 65 เพราะกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ดูเฉพาะเรื่องราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเท่านั้น แต่ดูเรื่องราคาพืชผลการเกษตร การดูแลเกษตรกร เรื่องประกันรายได้เกษตรกร รวมถึงการค้าชายแดน การเร่งรัดการส่งออก ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง การส่งออกเฉพาะ 5-6 เดือนนี้ เพิ่มขึ้นถึง 13% เงินเข้าประเทศแล้ว 4 ล้านล้านบาท ถือว่าเยอะมาก จะต้องปรับบางส่วนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย