โรงแรมสุโกศล 29 มี.ค.-ประธานสนช.ยืนยัน สนช.เดินหน้าพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมพรุ่งนี้ วอนทุกฝ่ายเข้าใจกม.แก้ไขได้ ชี้ การตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเป็นแค่ทางเลือก
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม วานนี้ (28 มี.ค.) ว่า ที่ประชุมวิปสนช.พูดคุยเรื่องความเป็นมาของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และได้รับการอธิบายจากพล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม เรื่องแนวคิดการเพิ่มมาตรา 10/1 ว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งเป็นข้อเสนอของผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมาธิการที่เสนอว่า ควรจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเพื่อเป็นทางเลือกการดำเนินการเรื่องปิโตรเลียม เนื่องจากระบบการปิโตรเลียมของไทยเป็นการให้สัมปทาน
“การเพิ่มเรื่องนี้อยู่นอกหลักการของกฎหมายฉบับนี้ เพราะฉบับที่รัฐบาลส่งมา เป็นระบบสัมปทาน ดังนั้น จึงต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)และกรรมาธิการได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว อย่างไรก็ตาม ผมตรวจสอบพบว่าร่างกฎหมายดังกล่าวบัญญัติเพียงว่าหากจะดำเนินการในลักษณะของบรรษัท จะต้องศึกษาความพร้อมอย่างไร ซึ่งเป็นการเขียนกฎหมายแบบเปิดทางไว้เท่านั้น ยังไม่ได้จัดตั้ง เนื่องจากมีแนวคิดว่านอกจากระบบสัมปทานแล้ว ควรมีรัฐบาลแห่งชาติเข้าไปดำเนินการเอง โดยจัดในรูปแบบของบรรษัทของรัฐบาล แต่กรณีดังกล่าวทำให้เป็นประเด็นจากสองฝ่าย ทั้งฝ่ายผลักดันเรื่องนี้ ที่มองว่า ร่างกฎหมายเพิ่มเติมไม่สมบูรณ์และไม่ชัดเจน ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนกฎหมายเดิมก็มองว่า เพิ่มเติมขึ้นมาได้อย่างไร” ประธานสนช. กล่าว
นายพรเพชร กล่าวว่า ที่ประชุมสนช.ไม่เลื่อนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในวันพรุ่งนี้ (30 มี.ค.) เพราะหลักการอื่น ๆ ของกฎหมายยังมีอยู่และต้องดำเนินการต่อไป ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาเรื่องการค้นหาพลังงานของประเทศ ส่วนปัญหาเรื่องการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ จะต้องหาข้อยุติโดยการอภิปรายของสมาชิกสนช.ว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ส่วนการพิจารณาของสนช.จะขัดต่อกฎหมายส่วนอื่นหรือไม่ เพราะในร่างแรกผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกามาแล้ว แต่ในส่วนที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ ไม่ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ประธานสนช. กล่าวว่า ร่างที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฎษฎีกา คือร่างของรัฐบาล แต่ที่ระบุว่าต้องเดินหน้าต่อไป คือ เดินหน้าในส่วนที่ไม่ขัดแย้ง ส่วนข้อเสนอใหม่จะต้องพิจารณาว่าดำเนินการอย่างไร หากดำเนินการได้ก็เดินหน้าต่อ แต่หากยังดำเนินการไม่ได้ต้องหาทางออกต่อไป
“ขณะนี้ยังคาดเดาอนาคตไม่ได้ว่าจะได้ข้อยุติหรือไม่ แต่ที่ผ่านมา สนช.เคยแก้ไขกฎหมายในชั้นกรรมาธิการเช่นนี้มาแล้ว 3-4 ครั้ง และการพิจารณาของสนช.มีหลายรูปแบบ ทั้งการโหวต การประนีประนอม หรือบางครั้งกรรมาธิการจะนำร่างกลับไปพิจารณา จึงต้องดูสถานการณ์และเปิดให้อภิปรายกันก่อน เพื่อให้ทราบความคิดเห็นของสมาชิก ยืนยันว่าจะพยายามให้ได้ข้อสรุปที่ลงตัวและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ” นายพรเพชร กล่าว
นายพรเพชร กล่าวว่า รู้สึกกังวลที่จะมีกลุ่มเตรียมชุมนุมต่อต้านการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว แต่อยากให้เข้าใจว่ากฎหมายสามารถปรับปรุงแก้ไขได้เสมอในอนาคต เพราะกฎหมายไม่ตายตัว วันนี้ทำให้ดีที่สุดสำหรับรัฐบาลนี้ ส่วนจะพิจารณากฎหมายตามมาตรา 77 ในรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติหรือไม่ ยังไม่ทราบว่าจะต้องทำเมื่อใด แต่ขณะนี้เปิดรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว ที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามมาตรา 77 ไปแล้วกว่าร้อยละ 70-80 ทั้งการรับฟังความเห็นรอบด้าน การวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมายที่มีต่อประชาชน และการรับฟังความเห็นของประชาชน.-สำนักข่าวไทย
