อสมท 6 พ.ค. – ช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 จัดดีเบตเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. “กรุงเทพออกแบบได้” โดยเชิญผู้สมัครรับเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.” มาร่วมประชันวิสัยทัศน์นโยบายพัฒนากรุงเทพฯ
เวทีประชาคมความคิดเห็น MCOT เจาะลึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. “กรุงเทพฯ ออกแบบได้” เชิญผู้สมัครซึ่งมีผลสำรวจจาก “นิด้าโพล” ชี้ว่ามีโอกาสได้รับการเลือกตั้งเป็น “ผู้ว่าฯ กทม.” ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ มากที่สุด ประกอบด้วย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล หมายเลข 1, นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 4, นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 3, พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 6, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 8 และนาวาอากาศตรีศิธา ทิวารี ผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทย หมายเลข 11 อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าพลตำรวจเอกอัศวิน ติดภารกิจ จึงไม่ได้มาร่วมเวทีดีเบตด้วย
สำหรับกติกาการดีเบตเป็นการถามคำถามที่คัดเลือกมาจาก 3 ส่วน คือ นิด้าโพล สำนักข่าวไทย และคำถามจากคนกรุงเทพฯ โดยให้ผู้สมัครจับสลากคำถามและอภิปรายในเวลาที่กำหนด เมื่อจบแล้วให้ผู้สมัครที่เหลือแสดงความคิดเห็น
สำหรับคำถามแรกคือ การควบคุมราคาตั๋วโดยสารและตั๋วร่วมครอบคลุมการเดินทาง คำถามนี้ส่วนใหญ่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เน้นหนักไปที่การแก้ไขปัญหาราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS รวมถึงการทำตั๋วร่วมการโดยสารทาง “เรือ” นอกจากนี้ยังมีคำถามเกี่ยวกับ “Big Project” ที่จะทำหากได้รับเลือกตั้ง ผู้สมัครทุกคนจะเดินหน้าผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา และสายสีน้ำเงิน
อีกคำถามใหญ่คือประเด็น “ปัญหาจราจร ความปลอดภัยบนท้องถนน และการทำผิดกฎจราจร และจักรยานยนต์ขี่บนทางเท้า” นายวิโรจน์ ชูนโยบายการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องและจริงจัง และเชื่อมโยงข้อมูลการกระทำผิดกฎจราจร ระหว่าง กทม. กองบังคับการตำรวจจราจร และกรมการขนส่งทางบก เข้าด้วยกัน เช่นเดียวกับนาวาอากาศตรีศิธา ที่ชูนโยบายใช้เทคโนโลยีใหม่มาช่วย
ส่วนนายชัชชาติจะดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมในการทำระบบกล้อง CCTV สร้างเป็นเครือข่ายร่วมกับกล้อง CCTV ของกรุงเทพฯ เพื่อจับผิดจักรยานยนต์ขี่บนทางเท้า
ด้านนายสกลธีชูเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยในการแก้ปัญหาร่วมกับกล้องวงจรปิดและบังคับใช้กฎหมายจริงจัง
ส่วนนายสุชัชวีร์เสนอนโยบายการอำนวยการจราจรแบบเบ็ดเสร็จ โดยใช้เทคโนโลยี และรวมศูนย์ให้ขึ้นกับกรุงเทพฯ เพื่อแก้ปัญหาการจราจรทั้งระบบ
ในช่วงท้ายของการดีเบต มีการถามประเด็นเรื่องการจัดระเบียบ “หาบเร่-แผงลอย” ช่วยผู้ค้าแก้ปัญหาปากท้อง รวมถึงวิธีการเรียกคะแนนเสียงจาก New Voter และกลุ่มที่มีอายุไม่ถึง 40 ปี และคำถามเกี่ยวกับนโยบายสนับสนุนกลุ่มธุรกิจ Start up
ส่วนความเคลื่อนไหวของพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 6 ซึ่งไม่ได้เดินทางมาร่วมดีเบตกับเหล่าผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่นๆ ที่ อสมท เมื่อวาน (5 พ.ค.) ช่วงเช้าได้ลงพื้นที่ย่านสายไหม เพื่อเรียกคะแนนเสียง ส่วนในเฟซบุ๊กได้มีการเผยแพร่เพลง “ชอบทำ แต่ไม่พูด” หวังดึงคะแนนเสียงวัยรุ่นคนกรุง ซึ่งเพลงจะมีกลิ่นอายเป็นเพลงแร็ป มีเนื้อหาเกี่ยวกับผลงานที่ผ่านมา และแนวทางการทำงานที่ชอบทำ แต่ไม่ชอบพูดเพ้อฝัน.-สำนักข่าวไทย