กรุงเทพฯ 6 เม.ย.- “วิโรจน์” ขึ้นเวทีดีเบต ยืนยัน 12 นโยบายหลักโอบรับทุกความหวัง มั่นใจการสร้างเมืองที่คนเท่ากัน คือ ประตูด่านแรกในการสร้างเมืองแห่งอนาคต เน้นรัฐสวัสดิการเป็นคำตอบของการพัฒนา
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 1 พรรคก้าวไกล เข้าร่วมเวทีเสวนาสาธารณะ “เสนอไป-แถลงมา นโยบายทางสังคมของผู้ว่าฯ กทม.” วันพุธที่ 6 เมษายน 2565 ณ สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ พญาไท ร่วมรับฟังข้อเสนอและข้อเรียกร้องจากตัวแทนกลุ่มสตรี เด็กเล็ก ผู้พิการ และแรงงาน โดยข้อเรียกร้องเชิงนโยบายบางส่วนเป็นข้อเรียกร้องเชิงนโยบาย เช่น สวัสดิการการทำงบประมาณและนโยบายที่คำนึงถึงความเสมอภาคทางเพศ (gender budgeting) กองทุนคุ้มครองผู้สูงอายุ บริการสาธารณะและสิ่งอำนวยความสะดวกของผู้สูงอายุ คนพิการ ปัญหาแรงงานนอกระบบ การเยียวยาและช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด รวมถึงการจัดการประเด็นด้านเด็กและเยาวชน อย่าง ปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ฯลฯ
นายวิโรจน์ กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ ถึงนโยบายด้านสวัสดิการ ได้แก่
(1) สวัสดิการคนเมือง โอบอุ้มเด็ก คนชรา ผู้พิการ นายวิโรจน์ เสนอให้ใช้งบ กทม. เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จากที่รัฐบาลให้อยู่แล้ว เป็น 1,000 บาท/คน เท่าเทียมกัน เพิ่มสวัสดิการคนพิการ เป็น 1,200 บาท/คน เพิ่มสวัสดิการเลี้ยงดูเด็กเล็ก 0-6 ปี เป็น 1,200 บาท/ คน โดยจะจัดสรรงบประมาณผ่านการเก็บภาษีที่ดินให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพื่อให้ กทม. สามารถสนับสนุนสวัสดิการให้ประชาชนคนกรุงเทพได้
(2) วัคซีนฟรี จากภาษีประชาชน นายวิโรจน์ ยกตัวอย่าง วัคซีนที่ทาง กทม. จะให้บริการประชาชนฟรี ได้แก่ วัคซีนโรคปอดอักเสบ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนโรคไข้เลือดออก ตามคำแนะนำของแพทย์ โดยอธิบายว่าการฉีดวัคซีนปอดอักเสบ จะลดจำนวนผู้ป่วยติดเตียง และป้องกันไม่ให้ผู้สูงวัยเจ็บป่วยหนักได้
(3) ลงทุนศูนย์ละ 5 ล้าน อัพเกรดศูนย์เด็กเล็ก กทม. ให้มีคุณภาพเท่าเอกชน นายวิโรจน์ ยืนยันว่าตั้งใจจะลงทุนปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์ละ 5 ล้านบาท ตลอด 4 ปี พร้อมจัดทำสัญญาจ้างประจำครูและพี่เลี้ยงประจำศูนย์ เพิ่มครูสำหรับเด็กพิเศษที่พัฒนาการช้า พร้อมทั้งเพิ่มศูนย์รับเลี้ยงเด็ก เพื่อลดภาระผู้ปกครองและแก้ปัญหาพื้นที่ขาดแคลน โดยไม่ต้องให้ผู้ปกครองต้องเดินทางไกลเพื่อพาเด็กเล็กไปไว้ไกลบ้าน
นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา มายาคติของเมือง ผลักให้คนกรุงเทพต่อสู้ ทำงานอย่างหนัก เกิดคนจนเมือง โดยไม่มีนโยบายสวัสดิการโอบรับ แต่นโยบายของวิโรจน์พร้อมทลายมายาคตินั้น เพราะการมีรัฐสวัสดิการจะช่วยให้คนกรุงเทพไม่ต้องกังวลแบกภาระในด้านต่างๆ ทั้งรายได้ที่ไม่พอรายจ่าย ทั้งจำนวนผู้สูงอายุในครอบครัว หรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบริการสาธารณะ ทุกคนจะกล้าใช้ชีวิต จะกล้าเดินตามความฝันโดยไม่พะว้าพะวงกับปัญหาที่เกิดจากการทอดทิ้งผู้คน และทำให้กรุงเทพเป็นเมืองแห่งความหวังในที่สุด .-สำนักข่าวไทย