กรุงเทพฯ 4 มี.ค.-“พล.อ.ประวิตร” ประชุมนโยบายกิจการอวกาศ โ€ สั่งเร่งจัดทำแผนแม่บท กฏหมายรองรับ ย้ำรับฟังความเห็นรอบด้าน เพื่อประโยชน์ประเทศชาติสูงสุดทุกมิติ ย้ำต้องยืดหยุ่นตามความเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายกิจการอวกาศแห่งชาติ ครั้งที่ 1/65 ผ่านระบบ VTC ณ มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด โดยที่ประชุมรับทราบการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 9 คน และรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานตามแนวทางการบริหารจัดการทรัพย์สิน ภายหลังสิ้นสุดสัญญาการดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ เมื่อวันที่ 30 ก.ค.64 และรับความคืบหน้าการจัดทำ(ร่าง) แผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ พ.ศ.2566 – 2580 ซึ่งอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 6 กลุ่ม รวม 65 หน่วยงาน และการปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันในเรื่อง New Space Economy พร้อมทั้งรับทราบความคืบหน้าการจัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ…..ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจหลักการด้านกฎหมาย
ที่ประชุมรับทราบโครงการศึกษาทิศทางรูปแบบการให้บริการดาวเทียมในอนาคตและแนวทางกำกับดูแลการให้บริการดาวเทียมในประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมผลการศึกษาจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และการจัดประชุมเชิงวิชาการเพื่อเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ทิศทางอุตสาหกรรม รูปแบบการให้บริการ รวมทั้งแนวนโยบายและการกำกับดูแล พิจารณานโยบายการดำเนินงานดาวเทียมแห่งชาติ ให้สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของประเทศไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคง โดยแยกประเภทดาวเทียม ประกอบด้วย ดาวเทียมสื่อสาร ดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ดาวเทียมระบุพิกัด ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา ดาวเทียมเพื่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ทบทวนคำสั่งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานภายใต้คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เพื่อพัฒนากิจการอวกาศและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศให้มีประสิทธิภาพ เป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคง

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า กิจการอวกาศของประเทศมีความสำคัญที่ต้องเร่งพัฒนาให้ทันกับสถานการณ์โลกและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ขอให้เร่งจัดทำแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติและกฎหมายลำดับรองคู่ขนานกันไปให้เร็วขึ้น แต่ต้องรอบคอบ โดยดึงผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาร่วมรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง สิ่งแวดล้อม ประชาชนผู้ใช้บริการและเพื่อประโยชน์สาธารณะ ขอปรับแผนให้มีความยืดหยุ่นตามความเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็ว พร้อมทั้งต้องสร้างความตระหนักรู้ และความเข้าใจกับประชาชนไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และวัตถุประสงค์ของภารกิจร่วมกัน.-สำนักข่าวไทย