รัฐสภา 24 ก.พ.-ประชุมร่วมรัฐสภาเริ่มพิจารณาร่าง กม.ลูกเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว “ชลน่าน-วิเชียร-ปดิพัทธ์” ชี้แจงย้ำสูตรคำนวณ ส.ส. ขณะยังเห็นแย้งปมเบอร์เดียวหาเสียงทั้งคนทั้งพรรค
การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ… และ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ… ซึ่ง คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ ส.ส. เข้าชื่อเสนอรวม 10 ฉบับ มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ทั้งนี้ ที่ประชุมรัฐสภาตกลงว่าจะพิจารณาร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่มีผู้เสนอรวม 4 ฉบับให้แล้วเสร็จ และตั้งกรรมาธิการวิสามัญ จากนั้น จะพิจารณา ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ… ที่มีผู้เสนอรวม 6 ฉบับ ต่อเนื่อง จากนั้น ตัวแทนผู้เสนอร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ได้นำเสนอสาระสำคัญตามเนื้อหาที่เสนอ
นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำเสนอสาระฉบับของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในสาระสำคัญว่าได้แก้ไขปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่1)พ.ศ.2564 มาตรา 83 มาตรา 96 มาตรา91 ที่ให้มีส.ส.รวม 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 400 คนและส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และแก้ไขสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ขณะที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นำเสนอสาระสำคัญว่าร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ…. มี 31 ประเด็น และมีบทเฉพาะกาล เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีประเด็นสำคัญโดยเฉพาะการแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่ต้องเขียนเนื้อหาเพื่อให้การแบ่งเขตเลือกตั้งไม่ก่อให้เกิดปัญหาเหมือนการเลือกตั้ง ปี 2562 แม้กฎหมายลูกกำหนดหลักเกณฑ์ชัดเจน แต่มีปัญหาการปฏิบัติ ไม่มีความเป็นธรรม เอื้อให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม เขตติดต่อกันที่เขียนในกฎหมาย แต่ติดต่อแบบลากตามอำเภอใจ เว้าแหว่ง ไม่คำนึงถึงประเพณีของชุมชน และจำนวนประชากร บางเขตห่างกัน 5 หมื่นคน เช่น ที่จ.เชียงใหม่ เขต 1 และ เขต 2 ที่มีผลต่อการลงคะแนน ดังนั้นทจึงกำหนดว่า ในจังหวัดใดเลือกตั้งเกิน 1 คนให้แบ่งพื้นที่แต่ละเขตติดต่อกัน มีผลต่างจำนวนของราษฎรในเขตเลือกตั้งไม่เกิน 10% ซึ่งปัจจุบันมีมีฐานตัวเลขที่ 1.6แสนคนต่อเขต
นพ.ชลน่าน อภิปรายว่า การกำหนดหมายเลขประจำตัวผู้สมัครส.ส.และพรรคการเมือง พรรคเพื่อไทยกำหนดเนื้อหาให้พรรคการเมืองและผู้สมัครส.ส. ใช้หมายเลขเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งนำเนื้อหาร่างกฎหมายลูกที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอไว้ตอนแรกบัญญัติไว้ แต่ภายหลังสำนักงานกฤษฎีกาและรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ระบุว่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 90 จึงเปลี่ยนไปไม่ใช้เบอร์เดียวกัน ซึ่งตนไม่แน่ใจเจตนารมณ์ของการแก้ไขดังกล่าว พรรคเพื่อไทยจึงเขียนเนื้อหาให้ใช้หมายเลขเดียวกัน โดยวันที่ส่งส.ส.แบบแบ่งเขต ไม่จำเป็นต้องจับหมายเลข เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ จากนั้นวันต่อไปเมื่อส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อให้จับหมายเลขเพื่อใช้ในการเลือกตั้ง
“ในการเลือกตั้งปี 2550 มีการแบ่งเขตเลือกตั้งและบัญชีเขตใหญ่ 8 เขต ที่มีหมายเลขแตกต่างกัน พบความโกลาหล สับสนวุ่นวายพรรคการเมืองลำบากหาเสียงบัญชีรายชื่อ เพราะผู้สมัครส.ส.เขต ไม่สามารถหาเสียงให้กับพรรคการเมืองได้ และเป็นต้นเหตุให้การเลือกตั้งไม่สุจริต ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้คะแนนเฉพาะตัวเอง ใช้สินจ้าง ทำให้พรรคการเมืองถูกทำลายตั้งแต่วันแรกที่เข้าคูหา ขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะได้รับความเข้าใจต่อหมายเลข ที่กกต.บอกว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ประโยชน์จากบัตรใบเดียว ผมมองว่าทุกพรรคได้ประโยชน์ในการรณรงค์หาเสียง” นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การแก้ไขให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่ให้มีหมายเลขแตกต่างกัน เจตจำนงที่คิดได้ คือ ต้องการทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและระบบรัฐสภา ส่วนการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ทุกฉบับเห็นตรงกันโดยใช้หารจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน เขียนชัดว่าการจัดสัดส่วนคะแนนเพื่อหาจำนวน ส.ส.ให้ใช้ตัวเต็ม เช่น พรรคเพื่อไทยได้ 40.8 ให้นำตัวเลข 40 จัดสรรตามรายชื่อ เมื่อคำนวณกับทุกพรรคได้ส.ส. 90 คน จากนั้นให้นำ 10 คนไปหาส.ส. จัดลำดับจากทศนิยม จากทุกพรรคที่ได้รับเข้าระบบ เพราะไม่มีกำหนดขั้นต่ำ เพื่อให้พรรคเล็กพรรคน้อย ได้ส.ส.เข้าสภา ซึ่งตนมองว่าเป็นวิธีที่เป็นธรรม
ขณะที่นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ นำเสนอสาระ ต่อสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อในฉบับของพรรคร่วมรัฐบาลว่า เนื้อหาที่เสนอแก้ไขกำหนดความสำคัญ ให้ใช้การคำนวณเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับคะแนนรวม โดยมีรายละเอียดคือให้นำคะแนนที่ได้จากการลงคะแนนให้กับผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของทุกพรรครวมกัน จากนั้นให้หารด้วยจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อที่มี 100 คน เช่น มีคะแนนรวม 30 ล้านคะแนน หาร 100 คนจะได้คะแนนเพื่อนำไปคำนวณส.ส.ที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมี
“สำหรับมาตรา 90 ของรัฐธรรมนูญที่ไม่แก้ไข ดังนั้น เจตนารมณ์ คือต้องส่งผู้สมัครส.ส.แบบเขตเลือกตั้งแล้ว จึงจะมีสิทธิส่งผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งกระบวนการส่งส.ส.เขต ต้องทำให้แล้วเสร็จจนได้รับหมายเลขของผู้สมัครส.ส.เขตแล้ว สำหรับเรื่องหมายเลขผู้สมัครที่กังวลว่า จะทำให้ประชาชนสับสน ลงคะแนนยาก เพราะหมายเลขแตกต่าง บัตรใบที่หนึ่ง ไม่มีข้อกังขาใด ประชาชนมีความสามารถ ใช้วิจารณญาณในการเลือกตั้งผู้แทนคนดี ไปเป็นส.ส. ส่วนบัตรใบที่สอง พรรคการเมือง ประชาชนสามารถรับรู้ข่าวสาร นโยบายการทำงานของแต่ละพรรคได้ และเลือกตัวแทนที่เหมาะสมทำงานในสภาได้ ไม่มีใครชี้นำ หรือชักจูงในการเลือกตั้งหมายเลขใดได้” นายวิเชียร กล่าว
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า พรรคการเมืองไม่ควรพูดกันว่าใครได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ แต่ควรพิจารณาว่าการเลือกตั้งแบบใดที่ประชาชนยอมรับ และได้เวทีเลือกตั้งเพื่อสร้างฉันทามติ กกต. จัดการเลือกตั้งที่เที่ยงธรรม โดยพรรคก้าวไกล เสนอให้ใช้หมายเลขผู้สมัครส.ส.แบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อเดียวกันเพื่อป้องกันความสับสนในการลงคะแนนของประชาชน นอกจากนั้นกกต. ต้องให้การสังเกตการเลือกตั้งทำได้ และกกต.ต้องทำอย่างเปิดเผย
“สำหรับการแก้ปัญหาปัดเศษ พรรคก้าวไกลไม่เสนอ แต่พบว่าเมื่อมีส.ส.ปัดเศษ คือ ไม่เต็มคะแนนฉันทามติของประชาชนที่มีเสียงมากพอเข้าสภาฯ ทั้งนี้ต้องการตัวแทนพรรคการเมือง เข้ามาทำงานฐานะสถาบันทางการเมือง ปัจจุบันพบว่ามีการรวมตัวของส.ส.กลุ่ม 16 หากนับคะแนนเสียงเลือกตั้งอาจจะน้อยกว่าส.ส.1 คน แต่พบว่ามีอำนาจต่อรอให้การประชุมเดินหน้าไม่ได้ ทำให้สภาฯล่มซ้ำซาก ทั้งนี้ตนมองว่าการแก้ไขสภาฯ ล่มต้องตั้งเกณฑ์ขั้นต่ำ เพื่อไม่ให้มีอาชีพรับจ้างตั้งพรรคการเมือง เพื่อลงสมัครส.ส. ซึ่งทำลายระบบการเมือง” นายปดิพัทธ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย