ทำเนียบรัฐบาล 6 ม.ค.-“พล.อ.ประวิตร” ประชุมทำงบ 66 กลุ่มย่อย ขับเคลื่อน 3 แผนหลัก สร้างสันติสุขจชต. บริหารน้ำ มุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ย้ำประหยัด คุ้มค่า ไม่ซ้ำซ้อน ปชช.ได้ประโยชน์สูงสุด
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุม คณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่าย บูรณาการประจำปีงบประมาณ 2566 (3 คณะย่อย) ครั้งที่1/2565 โดยที่ประชุมเริ่มการประชุมคณะกรรมการฯ (คณะที่1.1 : การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหฟวัดชายแดนภาคใต้(จชต.) เห็นชอบกรอบงบประมาณรายจ่ายบูรณาการตามแผนงานบูรณาการ ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจชต. ประจำปีงบประมาณ 2566 ซึ่งพล.อ.ประวิตรกำชับให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังวหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพด้านความมั่นคงและด้านการพัฒนาโดยประสานหน่วยงานต่าง ๆ เร่งนำข้อมูลที่ปรับตามมติคณะกรรมการฯ เข้าระบบ e-budgeting โดยมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายเพื่อทำให้พื้นที่ภาคใต้เกิดสันติสุข สงบ ร่มเย็น ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน
จากนั้น ประชุมคณะกรรมการฯ (คณะที่1.2 : การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ) โดยเห็นชอบหลักเกณฑ์การพิจารณาแผน และ(ร่าง)แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำประจำปีงบประมาณ 2566 ซึ่งประกอบด้วยโครงการจำแนกตามแผนแม่บทน้ำ 6 ด้านได้แก่ การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน รวมทั้ง การบริหารจัดการ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำให้มีการกำหนดความเร่งด่วนโครงการตามความจำเป็นในการดำเนินงานให้ชัดเจนด้วย
ส่วนการประชุมคณะกรรมการฯ (คณะที่ 1.3 :รัฐบาลดิจิทัล) ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงงบประมาณปี 2566 แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล โดยคาดว่าผลสัมฤทธิ์ที่จะได้รับ คือภาครัฐจะปรับเปลี่ยนไปสู่ “รัฐบาลดิจิทัล” เกิดเครื่องมือและแพลตฟอร์มสำคัญในการบริหารจัดการและการบริการดิจิทัลภาครัฐ แบบเบ็ดเสร็จ มุ่งเน้นให้มีการเชื่อมโยงและสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พ.ศ.2566-2570
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขอให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) กอ.รมน.ศอ.บต.และกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทั้ง 3 แผนงาน กำกับ ติดตามการทำงานของหน่วยงานภายใต้แผนบูรณาการอย่างใกล้ชิด โดยคำนึงถึงการใช้จ่ายงบประมาณด้วยความประหยัด คุ้มค่า บรรลุยุทธศาสตร์ชาติ และต้องไม่ให้การทำงานซ้ำซ้อน มุ่งให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และให้พี่น้องประชาชนมีความอยู่ดีกินดีเป็นสำคัญ.-สำนักข่าวไทย