รัฐสภา 13 ธ.ค.- “สมชาย” จี้นายกฯ ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกระบวนการลดหย่อนโทษคดีจำนำข้าว เหมือนคดีบอส ชี้เป็นคดีทุจริตร้ายแรง พร้อมเสนอแก้กฎหมายเพิ่มระยะปลอดภัยให้สังคมในคดีสำคัญร้ายแรง
นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เรียกร้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงการบริหารจัดการและข้อกฎหมาย ที่ทำให้เกิดการลดหย่อนโทษในคดีคอร์รัปชันที่มีปัญหาและสังคมตั้งข้อสงสัย โดยเฉพาะคดีทุจริตสำคัญร้ายแรง ทุจริตจำนำข้าว ซึ่งในคณะกรรมการฯ ควรมีผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษที่สังคมให้ความเชื่อถือ อย่างน้อยต้องมีผู้แทนจากกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม กรรมการอัยการ กรรมการ ป.ป.ช. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ผู้แทนสื่อมวลชน ฯลฯ ร่วมดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จใน 30 วัน ระหว่างนี้ให้ชะลอการบังคับใช้การลดหย่อนโทษดังกล่าวออกไประยะหนึ่งก่อน เพราะคดีทุจริตจำนำข้าวเป็นคดีพิเศษร้ายแรงสำคัญ ไม่ควรอยู่ในเกณฑ์ลดโทษเช่นคดีปกติทั่วไป ซึ่งประวัติศาสตร์ราชทัณฑ์ไทยที่มีการลดโทษต่อเนื่องใช้เวลาเพียง 14 เดือน ลดโทษครั้งละ 10-20 ปี แต่ได้รวมถึง 40 ปี ไม่เคยมี
“สมควรที่จะมีการตั้งคณะกรรมการพิเศษ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่ท่านนายกรัฐมนตรีตั้งแบบเดียวกับคดีบอส แล้วให้มีตัวแทนของกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม กรรมการ ป.ป.ช. กรรมการอัยการ ตัวแทนสื่อสารมวลชน ตัวแทนภาคสังคม รวมทั้งองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เข้ามาเป็นคณะกรรมการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสว่า บุคคลที่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษในคดีสำคัญเหล่านี้ ถูกวางเข้าไปอยู่ในกติกา เพื่อรอรับวาระสำคัญหรือไม่ เพราะเกณฑ์นี้มีการพิจารณาปีละ 4 ครั้ง บุคคลทั่วไปได้รับการพิจารณาในชั้นแบบนี้หรือไม่ ทำไมบุคคลเหล่านี้ หรือเฉพาะกลุ่ม เฉพาะราย ได้รับการพิจารณาเป็นนักโทษดีเยี่ยม แล้วใช้เวลาแค่ปีเศษๆ ลดโทษฮวบฮาบจาก 48 ปี เหลือ 6 ปี คำถามเหล่านี้ผมตอบแทนไม่ได้ อยู่ที่ท่านนายกรัฐมนตรีต้องตั้งคณะกรรมการเข้าไปสอบ ซึ่งสอบไม่ยาก จากพยานหลักฐานเอกสารต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในการพิจารณา” นายสมชาย กล่าว
ส่วนกรณีที่มีข้ออ้างเรื่องนักโทษล้นเรือนจำนั้น นายสมชาย กล่าวว่า ในฐานะที่เคยเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติด ได้ศึกษามาเรียบร้อยแล้วว่า การแก้โทษเรื่องการเสพกระท่อม กัญชา รวมถึงยาเสพติดที่ผู้เสพเป็นผู้ป่วย สามารถลดจำนวนนักโทษได้เป็นแสนราย รวมถึงคดีลหุโทษที่เปลี่ยนจากโทษขังเป็นการติดกำไล EM ก็ปล่อยตัวนักโทษได้นับแสนคน ไม่จำเป็นต้องไปเกี่ยวข้องกับคดีอุกฉกรรจ์หรือคดีร้ายแรงตามที่อ้าง ดังนั้น ทางแก้ต้องรีบแก้ที่ปัญหาเฉพาะราย
นายสมชาย กล่าวด้วยว่า ในอนาคตควรจะต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในส่วนหลังคำพิพากษา โดย ครม. ส.ส. หรือประชาชน ยื่นเสนอแก้พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 52 และมาตราที่เกี่ยวข้อง ให้เพิ่มระยะเวลาปลอดภัยแก่สังคม 15-20 ปี เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้มีโทษหนักประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือมีโทษจำคุกในคดีสำคัญพิเศษร้ายแรง ได้แก่ คดีค้ายาเสพติดรายใหญ่ คดีฆาตกรฆ่าข่มขืน คดีทุจริตสำคัญร้ายแรง ฯลฯ ต้องได้รับโทษขังในเรือนจำขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 15-20 ปี หรืออย่างน้อย 1 ใน 3 หรือกึ่งหนึ่งของโทษ โดยจะไม่มีการพิจารณาลดโทษ พักโทษ หรือปล่อยตัวก่อนกำหนด ทั้งนี้ เพื่อให้สังคมมั่นใจว่า สังคมจะปลอดภัยจากผู้กระทำผิดร้ายแรงที่เป็นภัยสังคม รวมถึงให้ศาลเข้ามาเป็นผู้พิจารณาและสั่งการลดโทษหรือพักโทษ หรือปล่อยนักโทษก่อนกำหนด โดยเฉพาะคดีความผิดภัยสังคมร้ายแรงด้วย.-สำนักข่าวไทย.