รัฐสภา 8 ธ.ค.-“สาทิตย์” สอนอย่ามองคนเห็นต่างเป็นคนไม่ดี พร้อมชี้ ส.ส. 5 คน ที่ถูกศาล รธน.วินิจฉัยให้พ้นสมาชิกภาพ เป็นการต่อสู้เพื่อ ปชช. และประเทศ ไม่ให้ถูกย่ำยีจากการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
(8 ธ.ค. 64) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. ….
โดยระบุว่า เหตุที่ลุกขึ้นอภิปรายนี้ ไม่ใช่มาจากคำท้าทายใด ๆ ของเพื่อนสมาชิกที่บอกว่าไม่มีสมาชิกจากฝ่ายรัฐบาลพูด พร้อมกับท้าทายว่าจะต้องมีใครสักคนหนึ่งลุกขึ้นพูด แต่การลุกขึ้นอภิปรายของตนในครั้งนี้มีประเด็นที่ได้ให้ความสนใจมาตั้งแต่ต้นแล้ว
เนื่องจากเคยมีญัตติที่ให้ศึกษาเรื่องของประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ มาตั้งแต่ก่อนที่จะย้ายเข้ามาสู่สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ และตนก็เป็นคนหนึ่งที่เสนอญัตติฉบับดังกล่าวซึ่งเป็นการเสนอตั้งแต่เริ่มเปิดสมัยประชุมรัฐสภา แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านไประยะหนึ่ง และมีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย ทำให้ในการอภิปรายญัตติที่จะนำไปสู่การศึกษาในเรื่องประกาศ คำสั่ง ของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาตินั้น เกิดสถานการณ์ที่มีความเห็นของเพื่อนสมาชิกไม่ตรงกัน จนนำไปสู่การลงมติ แต่แล้วญัตติฉบับนั้นก็ไม่มีการลงมติทำให้ไม่มีการนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ
นายสาทิตย์กล่าวว่า ในญัตตินั้นตนเป็นคนหนึ่งที่ขอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพราะเห็นว่ามีความจำเป็นเพราะในระบบกฎหมายไทย เรื่องของประกาศ คำสั่งคณะปฏิวัติไม่ได้เพิ่งมีเป็นครั้งแรก ตลอดการปฏิวัติ 10 กว่าครั้ง ทุกครั้งก็จะมีประเด็นความเห็นต่อประกาศและคำสั่งของคณะปฏิวัติที่แตกต่างกัน
โดยตนได้เคยอภิปรายว่า มีผู้นำไปฟ้องศาล แล้วในที่สุดก็มีคำวินิจฉัย หรือคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งเป็นแนวทางในการวางระบบของคำสั่งคณะปฏิวัติอยู่เหมือนกัน ในเวลาเดียวกันกับที่มีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาวางแนวเอาไว้เรื่องของคำสั่งของคณะปฏิวัติเช่นเดียวกัน แต่ประกาศและคำสั่งของ คสช.นั้นจะมีความแตกต่างจากการยึดอำนาจในหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาตินั้นอยู่ในอำนาจค่อนข้างยาวนาน ทำให้มีประกาศและคำสั่งหลายฉบับที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับเรื่องการควบคุมสถานการณ์ และตนก็เคยอภิปรายว่า การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นในขณะนั้นจะสามารถไปศึกษาได้ว่าเรื่องใดเป็นเรื่องของระบบกฎหมายที่ประกาศและคำสั่งนั้นอาจจะยังมีความจำเป็นอยู่จนกว่าจะมีการประกาศยกเลิก และบางประกาศ บางคำสั่ง ก็เป็นเรื่องซึ่งไม่ควรที่จะให้มีผลบังคับใช้อีกต่อไป โดยให้ กมธ. ได้เสนอให้มีการยกเลิก
สำหรับกฎหมาย 2 ฉบับที่เสนอมาในการพิจารณาครั้งนี้ นายสาทิตย์มองว่า มีสองเรื่องปะปนกัน และตนก็ไม่เห็นด้วยอย่าง กรณีของคำสั่งที่ 64/57 ก็ดี หรือการแก้ไขปัญหาในคำสั่งที่ 66/57 เรื่องการทวงคืนผืนป่า หรือแม้แต่กระทั่ง คำสั่งที่ 31/2560 ที่ผู้เสนอกฎหมายภาคประชาชนพูดถึงเรื่อง สปก. ก็ดี สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะอยู่ในประกาศและคำสั่งของคณะยึดอำนาจในขณะนั้น เนื่องจากการที่จะออกเป็นกฎหมายนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการคำนึงถึงผลดีผลเสียด้วย
ในเรื่องของ สปก. เป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก จนบัดนี้คำสั่งนี้ก็ยังอยู่ และมีผลการกระทำเกิดขึ้นแล้ว ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องที่ควรจะต้องยกเลิก เพียงแต่มีปัญหาว่า เนื่องจากไม่ได้มีการศึกษาร่วมกัน ซึ่งผู้ที่เสนอกฎหมายก็อาจจะมีการศึกษาในส่วนของท่าน แต่ในสภานี้มีความเห็นที่หลากหลาย ทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยปะปนกันไป หากจะเหมารวมคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา ว่าเป็นคนสนับสนุนเผด็จการก็ดี หรือจะเป็นคนที่ไม่เข้าใจหลักการและเหตุผลประชาธิปไตยก็ดี อย่าเพิ่งไปสรุปเหมารวมเช่นนั้น และตนเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุน ในเรื่องคำสั่งประกาศของคณะยึดอำนาจบางเรื่อง เป็นเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับการควบคุมสถานการณ์ ประกาศคำสั่งเหล่านี้ต้องยกเลิก แต่บางเรื่องที่พ้นสมัยไปแล้วก็ต้องยกเลิก ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะต้องทำ อย่างที่ในช่วงก่อนที่จะมีการเลือกตั้งกันก็มีการประกาศยกเลิกไปแล้วในบางส่วน
นายสาทิตย์กล่าวว่า เหตุที่ตนชี้แจงเรื่องนี้ก็เพื่อเป็นจุดยืนให้ทราบว่า ถ้าเราจะโหวตอะไรไปในสภานี้ อย่าไปเหมารวมคนอื่นแบบนั้น
“เหมือนเพื่อนสมาชิกพาดพิงถึงเพื่อนอดีตส.ส. ของเราที่วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยออกมาว่า ให้พ้นสมาชิกภาพ ท่านไปอภิปรายโดยใช้คำพูดว่า มี 5 คนที่ไปขัดขวางการเรียกร้องประชาธิปไตยและในที่สุดก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากการเป็นสมาชิกภาพ ท่านไม่รู้หรอกว่า 5 คนนั้นที่ถูกศาลวินิจฉัยวันนี้ เขาต่อสู้กับอะไรมา เขาพบกับอะไรมา การลุกขึ้นต่อสู้ของเขาในครั้งนั้นเป็นเรื่องของการต่อสู้กับ การออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นการย่ำยีทั้ง นิติรัฐและนิติธรรมในประเทศนี้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
และเมื่อเขาออกมาต่อสู้แล้วเขาก็พร้อมไม่มีการหนี การดำเนินคดีใด ๆ ก็ต่อสู้คดีในชั้นศาลจนถูกศาลพิพากษา เมื่อพิพากษาไปแล้ว ในบางเรื่องเขาก็มีสิทธิ์ที่จะใช้สิทธิ์ของเขาตามรัฐธรรมนูญยื่นไปยัง ศาลรัฐธรรมนูญ วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้เขาพ้นจากสมาชิกภาพ เขาก็ยอมรับคำวินิจฉัยนั้น ไม่ได้เป็นคนที่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่ตรงกับตัวเองก็ไม่ชอบ ถ้าวินิจฉัยตรงกับความคิดตัวเองก็ชอบไม่ใช่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นอย่าไปเหมารวมคนอื่น ว่าจะเป็นคนซึ่งคิดเห็นไม่ตรงกับท่านแล้วจะต้องเป็นคนที่ไม่ดีไปทั้งหมด หรือแม้แต่กระทั่งไปตีขลุมเพื่อนสมาชิกของเรา 5 คน ที่ต่อสู้บนท้องถนนร่วมกับพี่น้องประชาชนมา มีคนเสียเลือดเสียเนื้อมากมาย แต่เขาก็ยอมรับกระบวนการพิจารณาในทางศาลเขาต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเมืองอันนี้เป็นสิ่งที่ต้องให้ความยุติธรรมกับเขา” นายสาทิตย์กล่าว
พร้อมกับเพิ่มเติมว่า การโหวตใด ๆ ของเพื่อนสมาชิกเราคงไปบังคับอะไรกันไม่ได้เพราะเป็นเอกสิทธิ์โดยรัฐธรรมนูญ ตนจะโหวตอย่างไร เพื่อนสมาชิกจะโหวตอย่างไรก็เป็นสิทธิ์ และเป็นความรับผิดชอบของแต่ละคน ในการลงคะแนนเสียงทั้งหลายนั้นถูกบันทึกเอาไว้เพราะฉะนั้นคนที่ลงก็จะต้องมีเหตุผลในการอธิบายต่อไปในอนาคตด้วย เป็นเรื่องของนิติบัญญัติโดยแท้ อย่าไปรวมความคิดเห็นอื่นเข้ามาในตัวร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วย ดังนั้นจึงอยากจะลุกขึ้นแสดงความคิดความเห็นเอาไว้.-สำนักข่าวไทย