รัฐสภา 17 พ.ย.- “เกียรติ” แนะหากจะแก้ กม. ป้องกันการฟอกเงิน โดยอิง TIP Report ไทยต้องเปิดเจรจาเชิงรุก พร้อมขอหลักประกันความเป็นธรรมให้ผู้เสียหาย หากให้ ปปง. เป็นผู้พิจารณาเงินชดเชยผู้เสียหาย
(17 พ.ย. 64) นายเกียรติ สิทธีอมร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .. โดยระบุว่า จากเอกสารหน้า 2-3 ได้ให้เหตุผลของการปรับปรุงไว้ 3 ข้อ
- ข้อที่ 1 เรื่องคุ้มครองสิทธิ์ผู้เสียหาย
- ข้อที่ 2 การกำหนดการคุ้มครองสิทธิ์ ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด
- ข้อที่ 3 เป็นกระบวนการดำเนินการบังคับคดีทรัพย์สิน ถูกรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่น เพื่อให้สอดคล้องกับสากล
ซึ่งในข้อ 3 ที่ระบุว่า “เพื่อให้สอดคล้องกับสากล” นี้ ต้องขอสอบถามว่าได้มีการแก้ไขในประเด็นไหนบ้าง เนื่องจากไม่มีรายละเอียด เพียงแต่มีข้อมูลที่พาดพิงไปถึง TIP Report (Trafficking in Persons Report) ของสหรัฐอเมริกาปี 2562 ในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน การแก้ไขคำนิยามที่ให้สามารถนำทรัพย์สินไปชดเชยผลกระทบทางอ้อมนั้น ตนเห็นด้วย ถูกต้อง ดีงาม ทำได้เลย แต่เมื่อไปอ้างอิงถึง TIP Report แล้วบอกว่าการปรับปรุงตรงนี้จะช่วยให้สถานการณ์ของประเทศไทยเกี่ยวกับ TIP Report ดีขึ้นนั้น ตนไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่ามันจะดีขึ้นและเกี่ยวข้องอย่างไร
ทั้งนี้นายเกียรติ กล่าวว่า ในสมัยที่ตนดำรงตำแหน่งประธานผู้แทนการค้าไทย ได้เดินทางไปที่วอชิงตันดีซี เพื่อไปเป็นผู้เจรจากับรัฐมนตรีช่วยว่าการของสหรัฐฯ ด้วยตัวเอง เนื่องจากไม่ต้องการเห็นประเทศไทยตกเป็นเบี้ยล่างในเรื่องการดำเนินการซึ่งเป็นมาตรการฝ่ายเดียวของประเทศใหญ่ประเทศมหาอำนาจ และไม่สอดคล้องกับกติกาสากล แม้จะสอดคล้องในหลักการ แต่การมีกฎหมายเฉพาะภายในเพื่อประเมินคนอื่นทั้งโลก โดยไม่ประเมินตัวเอง ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งในการพบกับรัฐมนตรีช่วยว่าการของสหรัฐฯ ในครั้งนั้น ตนได้ตั้งคำถามว่า เหตุใดท่านไม่ประเมินสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นที่แอลเอ ที่ซานฟรานซิสโก ที่นิวยอร์ก ซึ่งเขาก็ตอบไม่ได้ และทราบดีว่าถ้าเรารู้เท่าทันเขา เรารู้จักที่จะไปเจรจากับเขา เขาก็ถอยเหมือนกัน หลังจากนั้นเกือบ 3 ปี ก็ไม่มีการยกประเด็นนี้ขึ้นมาอีก
ผมจึงมีข้อเสนอว่า ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศ ต้องเดินเกมเชิงรุก เรามีพรรคพวกในโลกนี้อีกหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก TIP Report เช่นกัน เราต้องไม่ตกเป็นเบี้ยล่างและต้องเจรจาเชิงรุก เพื่อผลักดันให้มีกติกาสากล ปฏิบัติเหมือนกันทุกประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯ ด้วย นอกจากนี้เมื่อไปดูหน้า 3-10 ต้องขอถามถึงหลักคิดในเรื่องการนำทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดไปชดใช้คืน ซึ่งจากรายงานได้มีการยกตัวอย่างจาก 4 ประเทศ ทั้งของไทย อเมริกา สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรเลีย แต่ไม่ได้อธิบายว่าเหตุใดประเทศไทยจึงเลือกแนวทางที่ให้อำนาจ ปปง. เป็นผู้พิจารณาความเสียหายและสัดส่วนความเสียหายเอง ในขณะที่สหราชอาณาจักรและสวิตเซอร์แลนด์ เป็นเรื่องของพยานหลักฐานที่จะต้องนำเสนอในชั้นศาล และศาลเป็นคนตัดสิน แต่ของเราไม่ได้ระบุว่า สำนักงาน ปปง. มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไรบ้าง..?? แต่ใน 2 ประเทศดังกล่าวถึงนั้น ใช้ศาลยุติธรรมเป็นผู้พิจารณา ซึ่งให้ความรู้สึกว่าผู้เสียหายได้รับความเป็นธรรมมากกว่าการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของ ปปง.
“ถ้าท่านเขียนหลักสักนิดนึง ผมอาจจะอคิดตามได้ แต่ในเอกสารไม่มีรายละเอียดอะไรเลย ก็ต้องเรียนถามว่าเราจะใช้หลักอะไรเพื่อให้กฎหมายที่เราปรับปรุงไป ในที่สุดแล้วสามารถนำความยุติธรรมมาสู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการฟอกเงินหรือคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการฟอกเงินได้อย่างเต็มที่” นายเกียรติกล่าวในที่สุด .-สำนักข่าวไทย