ทำเนียบรัฐบาล 1 พ.ย.-ผู้ช่วยโฆษก ศบค.เผยเปิดประเทศวันแรกมีทั้งคนไทย กลับบ้านและนักท่องเที่ยวทยอยเข้า เตรียมฉีดวัคซีนให้แรงงานต่างด้าว
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 หรือ ศบค. กล่าวถึงการเปิดประเทศในวันนี้(1 พ.ย.) วันแรก ว่า นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค รวมถึงคณะผู้บริหารตรวจเยี่ยมจุดคัดกรองที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถือเป็นการทดสอบระบบไทยแลนด์พลัสครั้งแรก ซึ่งช่วงกลางดึกคืนวานนี้(31 ต.ค.) เที่ยวบินจากญี่ปุ่นมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 43 คน แต่ส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่เดินทางกลับบ้าน มีนักท่องเที่ยวเพียง 11 คน และวันนี้เวลา 11.10 น. ได้ต้อนรับเที่ยวบินจากประเทศสิงค์โปร์
“แม้วันนี้จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว แต่การที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจะต้องเป็นการทยอยรับเข้ามา ระหว่างนี้จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทดสอบระบบว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ ล่าสุดกระทรวงต่างประเทศประกาศประเทศเพิ่มเติมที่เข้าไทยได้ในโครงการนี้ 61 ประเทศ + 2 พื้นที่ ซึ่งพื้นที่เพิ่มเติมประกอบด้วยโครเอเชีย อินเดีย อินโดนีเซีย คูเวต ลาว ลักเซมเบิร์ก มัลดีฟส์ มองโกเลีย เมียนมา เนปาล โอมาน ฟิลิปปินส์ โรมาเนีย ศรีลังกา สาธารณรัฐสโลวัก เวียดนาม ไต้หวัน” ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าว
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ที่ประชุมศบค.ชุดเล็กหารือแนวทางการจัดสรรวัคซีนให้กับแรงงานต่างด้าว และเมื่อมีวัคซีนเพียงพอในแต่ละจังหวัด จะประกาศให้ผู้ประกอบการนำแรงงงานต่างด้าวที่อยู่ในการดูแลเข้ารับการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะในเดือนนี้ ถ้าวัคซีนเป็นไปตามแผนที่สาธารณสุขคาดการณ์ไว้ จะมีวัคซีนทั้งสิ้น 24 ล้านโดสเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเพียงพอสำหรับคนไทย และสามารถฉีดวัคซีนให้แรงงานต่างด้าวได้ด้วย ขณะที่รายงานการฉีดวัคซีนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นไฟเซอร์ทั้ง 2 เข็ม เพื่อตอบโต้สายพันธุ์เฉพาะ
“วันนี้เปิดเทอมวันแรก สำหรับการการสุ่มตรวจ ATK ต้องให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกทม.กำหนดตามความเหมาะสมของการระบาดในพื้นที่ แยกทั้งระดับอำเภอและจังหวัด และสิ่งสำคัญโรงเรียนต้องประเมินตนเองตามมาตรการการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดติดเชื้อ ซึ่งเป็นแบบสอบถามของกรมอนามัย และทางครู อาจาย์ต้องประเมินตนเองเช่นเดียวกัน ขณะที่ผู้ปกครองต้องประเมินตนเองทุกวันด้วย ส่วนการตรวจATK ไม่จำเป็นต้องตรวจนักเรียนทุกคน หรือตรวจแบบปูพรม แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่” ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าว
พญ.อภิสมัย กล่าว่า หากพบการติดเชื้อในโรงเรียน ให้ผู้บริหารโรงเรียน หรือ คณะกรรมโรคติดต่อพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งไม่จำเป็นต้องปิดโรงเรียน แต่ต้องสอบสวนโรคทันที หรือให้เลือกปิดเฉพาะชั้นเรียนที่มีความเสี่ยงเท่านั้น.-สำนักข่าวไทย