รัฐสภา 17 ก.ย. – รัฐสภา รับหลักการร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ไม่ได้ เหตุสมาชิกบางตา ยกไปลงมติสมัยประชุมหน้า หลังอภิปรายยาวนาน ส่วนใหญ่หนุนเพราะหวังพัฒนาปรับบริบทให้เข้ายุคสมัย เพิ่มศักยภาพการศึกษาไทย
ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ….ซึ่งคณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ มีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงสาระสำคัญของกฎหมายว่า เป็นการมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนานักเรียนทุกช่วงวัย ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และพร้อมรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลง ทางสังคม สามารถนำองค์ควรรู้ในชั้นเรียนมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งปรับวิธีการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ห้ามใช้วิธีการทดสอบที่เน้นเชิงวิชาการอย่างเดียว แต่ต้องมีวิธีการทดสอบแบบอื่นที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคนด้วย ปรับรูปแบบการเรียนการสอนเป็นแบบเชิงรุก เน้นให้นักเรียนเกิดการตั้งคำถามและหาคำตอบได้ ด้วยตนเอง และปรับวิธีการบริหารงานสถานศึกษา กระจายอำนาจตัดสินใจให้โรงเรียน ลดภาระงานอื่นงานของครู ให้ครูมีหน้าที่สอนเป็นหลัก
ด้านสมาชิกรัฐสภาให้ความสนใจอภิปรายเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนให้มีร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อเพิ่มศักยภาพของการศึกษาไทย และพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กให้เกิดประสิทธิภาพ โดยนายสงวน พงษ์มณี สมาชิกรัฐสภา เสนอให้มีการแก้ไขในมาตรา 20 ด้วยการกำหนดให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคล เพราะสามารถระบุได้ว่า ต้องการให้สถานศึกษาควรดำเนินการด้านใดบ้าง สิ่งใดไม่ควรกระทำ หากไม่ได้ระบุให้เป็นนิติบุคคลจะไม่สามารถทำงานได้ รวมถึง การจัดการโครงสร้างที่ยังไม่ชัดเจน เนื่องจาก ในกฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นเพียงระเบียบเท่านั้น เกรงว่าจะขัดกับกฎหมายหลัก หากระบุให้เป็นระเบียบจะต้องไปแก้ในกฎหมายการบริหารราชการแผ่น อาจทำให้เกิดความยุ่งยากในการทำงานซึ่งการบัญญัติให้เป็นพระราชบัญญัติ จะเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ดำเนินการ และจะเกิดการถ่วงดุลอำนาจในหลายๆด้าน อยากเห็นเอกภาพของการบริหารการศึกษา
ด้านนายตวง อันทะไชย สมาชิกรัฐสภา เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว โดยเฉพาะการกระจายอำนาจไปยังโรงเรียนให้มีความเป็นอิสระมากขึ้น ทั้งการออกแบบวิชาการ การบริหารงานบุคคล การบริหารงานทั่วไป และบริหารงบประมาณ ทำให้มีโรงเรียนสามารถร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนการศึกษาได้ ซึ่งจะสอดคล้องกับการจัดการศึกษาในยุค new normal ที่เน้นให้ผู้เรียนมีทักษะวิชาการและวิชาชีพควบคู่กัน สามารถรับมือกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้
สอดคล้องกับนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.จังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย เห็นว่า กฎหมายฉบับนี้มีหน้าที่โดยตรงในการจัดการเรียนการศึกษา แต่มั่นใจได้อย่างไรว่าเขียนกฎหมายมาเช่นนี้จะปฏิรูปการศึกษาได้ ที่สำคัญควรมุ่งเน้นที่ตัวบุคคล พัฒนาตามทักษะตามความถนัด รวมถึงวิชาชีพชั้นสูงต้องตอบโจทย์โดยตรง ไม่ควรเขียนเป็นเพียงถ้อยคำและวาทกรรม ดังนั้น ควรระบุในรายละเอียดให้ชัดเจน ส่วนโครงสร้างของกฎหมายมีรายละเอียดมากเกินไป ไม่เหมาะสมที่จะเป็นกฎหมายแม่บท ควรปรับให้เห็นความสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา พร้อมเสนอให้นำกฎหมายฉบับเดิมมาปรับปรุงในสิ่งที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษาต้องเป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้จริง
ด้านนางสาวตรีนุช สรุปในช่วงท้าย โดยขอขอบคุณสมาชิกฯ ทุกคนที่เล็งเห็นความสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. อีกทั้งยังให้ข้อเสนอแนะและข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์ต่อร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะน้อมรับข้อเสนอแนะไปแก้ไข และฝากไปยังคณะกรรมาธิการนำข้อสังเกตไปพิจารณาปรับแก้ไขเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคณะครู บุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งเด็กและเยาวชนที่มีความเกี่ยวข้องต่อร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ต่อไป
หลังสมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวาง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภากดออดเรียกสมาชิกเพื่อที่จะลงมติ ถึง 3 ครั้ง แต่ปรากฏว่ามีสมาชิกเข้าร่วมประชุมบางตา มี ส.ส.พรรรรวมรัฐบาล บางรายเสนอให้พักการประชุม 30 นาที แล้วค่อยมาลงมติ ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้านท้วงติง ว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษา เป็นกฎหมายสำคัญ เทียบเคียงกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งในชวนระบุว่าเข้าใจเนื่องจากเป็นการพิจารณากฎหมายถึงสองฉบับสมาชิกบางส่วนอาจจะเดินทางกลับบ้านไปแล้ว พร้อมจะหยิบยกปัญหาขึ้นหารือในสมัยประชุมหน้า
ทั้งนี้เมื่อนับองค์ประชุม มีสมาชิกแสดงตน 365 คน ซึ่งไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ 730 คน นายชวนจึงไม่ได้ให้ลงมติ และให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อ่านพระบรมราชโองการประกาศพระราชกฤษฎีกา ปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2564 ตั้งแต่ 19 กันยายน เป็นต้นไป ก่อนนายชวนจะบอกสมาชิกว่า เจอกัน 1 พ.ย. ซึ่งเท่ากับว่าจะไปลงมติสมัยประชุมหน้า และปิดประชุมไปเวลา 20.15 น.-สำนักข่าวไทย