รัฐสภา 15 ก.ย.-สภาฯ ดัน ร่างกม.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ขอให้ได้ใช้โดยเร็ว หากช้าจะมีการอุ้มฆ่าในอนาคต ด้าน“โรม” เรียกร้องความยุติธรรมให้ 9 เหยื่อนักกิจกรรมทางการเมือง ขณะที่ “เพชรดาว” สะอื้น กรณีครอบครัวถูกบังคับให้สูญหาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันนี้ มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ซึ่งมีทั้งหมด 4 ร่าง ได้แก่ 1.ร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) 2.ร่างของนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ 3.ร่างของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ และ 4.ร่างของนายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
โดยนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ชีวิตของคนที่ไม่รู้ว่าชะตากรรมของคนในครอบครัวเป็นใครเหมือนแก้วที่ร้าว ซึ่งที่ผ่านมา ต่างชาติได้รวบรวมกรณีการถูกบังคับให้สูญหายในประเทศไทยอย่างน้อย 86 ราย นับเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน หลังการรัฐประหารปี 57 มีข้อร้องเรียนการทรมานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้กว่า 250 เรื่อง ซึ่งไทยถูกตั้งคำถามจากกว่า 10 ประเทศ ในนามของพรรคก้าวไกลตนต้องขอโทษต่อผู้สูญเสียทุกคน ที่สภาฯแห่งนี้เราน่าจะทำกฎหมายฉบับนี้ได้เร็วกว่านี้ แต่หากเป็นไปได้ ตนว่าการเยียวยา และการคืนความยุติธรรมที่จะเกิดในร่างกฎหมายฉบับนี้นั้น หากจะมีขึ้นจริง ก็ขอให้ไม่มีใครที่ต้องตกเป็นผู้สูญหาย หรือถูกกระทำทรมานอีก ขอให้กฎหมายฉบับนี้จบในรุ่นเราจริง
ด้านนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ในอดีตการซ้อมทรมาน และอุ้มหายเกิดขึ้นหลายครั้ง กับหลายคน หลายครอบครัว เอาแค่เฉพาะในยุค คสช.ก็มีผู้ที่ถูกอุ้มหายแล้ว อย่างน้อย 9 คน ส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองที่ต่อต้าน คสช. เช่น นายอิทธิพล สุขแป้น หรือดีเจซุนโฮ นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือสุรชัย แซ่ด่าน นายชัชชาญ ปุบผาวัลย์หรือสหายภูชนะ นายไกรเดช ลือเลิศ หรือสหายกาสะลอง นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือลุงสนามหลวง นายกฤษณะ ทัพไทย หรือสหายยังบลัด นายสยาม ธีรวุฒิ หรือสหายข้าวเหนียวมะม่วง และนายเด่น คำแหล้ เป็นแกนนำชาวบ้านที่ต่อต้านนโยบายทวงคืนผืนป่าที่รังแกคนจนของคสช.ซึ่งในจำนวน 9 คนนี้มี 3 คน ที่ถูกพบว่าเสียชีวิตแล้ว โดยถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยม ส่วนผู้ที่ถูกซ้อมทรมานก็มักเป็นกลุ่มบุคคลที่รัฐมองพวกเขาอย่างมีอคติ เช่น เมื่อช่วงเดือน ก.ค.ปี 63 เกิดกรณีนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่บาดเจ็บสาหัสขณะถูกสอบสวนในค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี แต่เจ้าหน้าที่กลับอ้างว่าเข้าลื่นล้มในห้องน้ำและท้ายที่สุดก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ทั้งหลายนี้ ทำให้เมื่อวันที่ 30 ม.ค.63 ภาคประชาชนทั้งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดจนครบครัวของเหยื่อผู้ถูกกระทำ ได้ร่วมกันยื่นร่างพ.ร.บ.การอซ่อมทรมาน ต่อกมธ.การกฎหมาย สภาฯ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้เสนอกฎหมายโดยไม่แบ่งแยกฝ่ายค้านหรือรัฐบาล แต่เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.63 เกิดกรณีอุ้มหายนายวันเฉลิม สัตยศักดิ์สิทธิ์ หรือต้าร์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีประวัติต่อต้าน คสช.กมธ.กฎหมายฯจึงเร่งดำเนินการ โดยนำร่างของประชาชนมาแก้ไขเพิ่มเติมให้เกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเสนอต่อสภาฯแล้วโดยส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลร่วมกันลงชื่อ
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า สาระสำคัญของร่างดังกล่าวคือการกำหนดให้การซ้อมทรมานและการอุ้มหายเป็นความผิดตามกฎหมายโดยผู้มีความผิดรวมถึงผู้มีส่วนร่วมที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้บังคับบัญชาที่ปล่อยปละละเลย และผู้กระทำผิดนอกราชอาณาจักรด้วย และให้ผู้เสียหายหมายความร่วมถึงคู่ชีวิต บุพการี ผู้สืบสันดานของผู้ถูกกระทำด้วย และให้มีการตั้งคณะกรรมการป้องกันการซ่อมทรมานฯ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหาย และรวมถึงการป้องกันมิให้มีการปกปิดการควบคุมตัวบุคคล และกำหนดให้เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัวบุคคลต้องบันทึกและรายงานข้อมูลผู้ถูกคุมตัวโดยญาติของผู้ถูกคุมตัวหรือคณะกรรมการฯ มีสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูล หากมีการปฏิเสธก็มีสิทธิ์ร้องต่อศาลเพื่อให้สั่งให้เปิดเผยข้อมูลได้ หรือหากมีข้อร้องเรียนการกระทำผิดเกิดขึ้น คณะกรรมการฯสามารถร้องขอศาลเพื่อให้สั่งยุติการกระทำได้
“เมื่อเทียบกับร่างฉบับครม.แล้ว ร่างของกมธ.กฎหมายฯ ยังมีการเพิ่มความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คือการ กระทำที่ทำให้เกิดอันตรายแก่กาย จิตใจ หรือลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของบุคคลเข้ามา และให้ความผิดทั้งหมดตามร่างพ.ร.บ.นี้ไม่มีอายุความ เนื่องจากเป็นความผิดที่ใช้เวลายาวนานในการรวบรวมหลักฐานและพิจารณาข้อเท็จจริง และกำหนดให้มีการสืบสวนสอบสวนคดีอุ้มหายที่เกิดขึ้นก่อนที่ร่างพ.ร.บ.นี้จะบังคับใช้ด้วย เพื่อค้นหาความจริงและคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่ถูกกระทำในอดีต จึงหวังว่าการรับหลักการร่างพ.ร.บ.นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดวงจรอุบาทว์ ที่ประชาชนเห็นต่างจากรัฐจนบาดเจ็บล้มตายหรืออุ้มหายไร้ร่องรอย” นายรังสิมันต์ กล่าว
ขณะที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตนเห็นชอบที่จะรับหลักการทั้ง 4 ร่าง เพราะแต่ละร่างมีเนื้อหาที่ดีที่แตกต่างกัน โดยความจำเป็นที่เราต้องรับหลักการร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับนี้ก็เพราะ ถ้าช้ากว่านี้ นอกจากสูญหายแล้ว จะกลายเป็นเกิดการคลุมหัว อุ้มฆ่าตามมาในอนาคต กฎหมายนี้จะเป็นการป้องกัน และปราบปราบไม่ให้เกิดการทรมานและบังคับให้บุคคลสูญหาย ซึ่งตนมองว่า การป้องกันถือเป็นเรื่องำคัญ เราต้องบันทึก และเปิดเผยข้อมูลของบุคคลที่ถูกจำกัดเสรีภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ ส่วนการกำหนดบทลงโทษก็มีความสำคัญ ผู้กระทำจะต้องได้รับโทษอย่างเหมาะสม โดยจะอ้างสิ่งใดมายกเว้นความผิดไม่ได้ ทั้งนี้ ขอฝากให้ กมธ. นำหลัการที่ดีในแต่ละร่างไปปรับให้สอดรับกันด้วย
จากนั้น น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ได้อภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 4 ร่าง โดยช่วงหนึ่ง น.ส.เพชรดาว ได้ยกเหตุการณ์คนในครอบครัวของตัวเองที่ถูกบังคับให้สูญหาย ด้วยเสียงสะอื้นและสั่นเครือ พร้อมขอให้การพิจารณาโทษของคดีนี้ไม่มีอายุความ.-สำนักข่าวไทย