กรุงเทพฯ 19 ก.ค. – เลขาฯ สมช. แจงเปิดให้ประชาชนที่จะเดินทางข้ามเขต กรอกข้อมูลผ่าน www.หยุดเชื้อเพื่อชาติ เพื่อรับคิวอาร์โค้ด แสดงต่อเจ้าหน้าที่ ชี้ไม่จำเป็นอย่าเดินทาง เผยพร้อมเคลื่อนอู่ฮั่นโมเดล หาก สธ.เสนอ แจงนายกฯ สั่งเร่งเปิดศูนย์พักคอยให้ครบ 50 เขต รับผู้ป่วยในพื้นที่ เพื่อรอส่ง รพ.
วันที่ 19 ก.ค.64 พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ผอ.ศปก.ศบค.) ตอบคำถามสื่อมวลชนที่ผ่านการรวบรวมจากสื่อทำเนียบฯ ผ่านคลิปสัมภาษณ์จากทำเนียบรัฐบาล ถึงคำถามต่อมาตรการล็อกดาวน์เข้มข้นที่จะมีผลในวันที่ 20 ก.ค.64 ถึงการทำงานของสื่อมวลชน และจิตอาสาช่วยผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วงล็อกดาวน์จะสามารถออกไปปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า สื่อมวลชนถือเป็นอาชีพที่มีความจำเป็นและสำคัญ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่ต้องทำได้ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และอยากให้เป็นตัวอย่างที่ดีกับประชาชน ดังนั้น มาตรการที่ต้องปฏิบัติอย่างเข้มข้น คือ การรักษาระยะห่าง มาตรการ dmhtt ส่วนอาสาสมัครก็มีความจำเป็น สามารถทำงานได้เช่นกัน
ส่วนกรณีที่ประชาชนยังสงสัยว่า หากอยู่ต่างจังหวัดมีภารกิจจำเป็นต้องข้ามเขต เดินทาง โดยเฉพาะขับรถข้ามจังหวัด ในขณะที่สายการบินงดบิน จะสามารถเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้หรือไม่ ผอ.ศปก.ศบค. กล่าวว่า หากมีหลักฐานแสดงการนัดหมาย อาทิ ฉีดวัคซีน หรือนัดพบแพทย์ สามารถแสดงหลักฐานกับเจ้าหน้าที่ได้ แต่ทั้งนี้ ศบค.มีวัตถุประสงค์หลักที่ต้องการให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทาง โดยเฉพาะการเข้ามาในพื้นที่สีแดงเข้ม เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
อย่างไรก็ตาม หากจำเป็น ศบค.ได้เพิ่มช่องทางอำนวยความสะดวก ด้วยการเข้าไปลงทะเบียนในเว็บไซต์หยุดเชื้อเพื่อชาติ covid-19.in.th เพื่อกรอกแบบฟอร์มและสแกนคิวอาร์โค้ด และนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ในด่านตรวจ โดยแต่ละด่านจะมีเจ้าหน้าที่อ่านคิวอาร์โค้ด เพื่อสะดวกต่อการแจ้งข้อมูล โดยไม่ต้องกรอกข้อมูลระหว่างการเดินทาง
เมื่อถามว่า มาตรการนอกเวลาเคอร์ฟิวที่บังคับใช้ในช่วงกลางวัน เป็นการขอความร่วมมือ หรือคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถาน พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า คำสั่งนี้มีการออกบังคับใช้ 2 ห้วง ในห้วงเคอร์ฟิว คือ ประกาศห้าม แต่ในช่วงนอกเคอร์ฟิวจะเว้นในบางกิจกรรม จึงขอใช้คำว่าให้งดไปก่อน คือ ให้งด ให้หลีกเลี่ยง โดยเมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้มาตรการเข้มข้น อาจต้องใช้คำว่าห้าม ซึ่งหากถึงขั้นต้องห้าม จะมีกิจกรรมที่ได้รับการยกเว้นน้อยกว่านี้มาก
นอกจากนี้ สื่อมวลชนยังถามว่า ศบค.ได้เตรียมแผนรองรับการใช้อู่ฮั่นโมเดลหรือไม่ หากผู้ติดเชื้อไม่ลดลง พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ศบค.เตรียมรับมือไว้ทุกสถานการณ์ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข ในการตัดสินใจ ซึ่ง ศบค.พร้อมปฏิบัติในทุกกรณี ส่วนที่สื่อถามว่า ไทยมีแนวโน้มที่จะฟูลล็อกดาวน์ หรือล็อกดาวน์เต็มพื้นที่ โดยห้ามออกจากบ้านเลยหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ศบค.ต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย ทั้งผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ และปัญหาด้านเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศด้วย
เมื่อถามว่า ศบค.ประเมินว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้เอาอยู่หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ความสำเร็จในการควบคุม มีหลายส่วนประกอบกัน ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐที่ต้องเข้มข้นจริงจัง ภาคเอกชนผู้ประกอบการต้องสนับสนุนมาตรการที่ ศบค.กำหนด ภาคประชาชนให้ความร่วมมือกับภาครัฐ นอกจากนี้ ส่วนที่สำคัญอีกภาคส่วน คือ สื่อมวลชน ที่สามารถขับเคลื่อนให้มาตรการเกิดประโยชน์ ช่วยกันสร้างความมั่นใจกับประชาชน จะช่วยทำให้สถานการณ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล เมื่อร่วมกันคาดว่าจะเอาอยู่ แต่หาก ศบค.ดำเนินการแค่ฝ่ายเดียว ไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนใดเลย ก็เชื่อว่าจะเอาไม่อยู่
ส่วนคำถามว่า จะปรับโครงสร้างของ ศบค. โดยจะมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำหน้าที่ ศบค. เพิ่มเติมหรือไม่นั้น พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณา แต่ยืนยันว่า บุคลากรและทีมงานจากทุกภาคส่วนที่มาร่วมงานกันในปัจจุบันนี้ ถือว่ามีประสิทธิภาพแล้ว
พล.อ.ณัฐพล ยังกล่าวด้วยว่า เมื่อช่วงเช้าได้หารือร่วมกับนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในหลายประเด็น โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้นายอนุทิน เร่งหาช่องทาง เร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์ และจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม โดยนายอนุทิน แจ้งว่าจะเร่งกลับไปพิจารณา และแจ้งนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็วอีกครั้ง
เมื่อถามว่า ศบค.หาแนวทางแก้ไขปัญหาผู้ป่วยตกค้างที่บ้าน ผู้ป่วยรอคอยนาน ที่จะทำให้อาการหนักขึ้นอย่างไร พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยเรื่องนี้มาก และสอบถามกระทรวงสาธารณสุข กทม. ศบค. โดยในชั้นต้นจะเร่งมาตรการคัดกรองตรวจหาผู้ติดเชื้อ และหากผู้ที่พบติดเชื้อจะเข้าระบบโฮมไอโซเรชัน และในช่วงที่ระบบกักตัวที่บ้านยังไม่สมบูรณ์ ให้ใช้ศูนย์พักคอยที่มีอยู่ 50 เขตใน กทม. ซึ่งขณะนี้เปิดแล้ว 20 เขต ให้นำผู้ติดเชื้อเข้ามายังศูนย์พักคอยในแต่ละเขต เพื่อรอการส่งต่อ โดยนายกรัฐมนตรี เร่งให้ทุกเขตมีศูนย์พักคอย เขตละ 1 แห่ง โดยให้ประชาชนมาติดต่อ รอการส่งต่อไปยัง รพ.สนาม ไอซียูสนาม ตามอาการที่เป็น จำนวนเตียงที่มี คาดว่าหากดำเนินการได้ สถานการณ์การขาดแคลนเตียงจะสามารถแก้ปัญหาได้ดีขึ้น. – สำนักข่าวไทย