ภูเก็ต 1 ก.ค.-รัฐบาลเตรียม 5 มาตรการทางสาธารณสุขและแผนเผชิญเหตุรองรับ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ยกเป็นแนวทางดำเนินการพื้นที่ท่องเที่ยวอื่น
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 ได้รายงานถึงความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข รองรับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ว่า หากดำเนินการได้ราบรื่น ประสบความสำเร็จจะเป็นแนวทางการการดำเนินการด้านสาธารณสุขสำหรับพื้นที่ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวอื่นๆ ในประเทศต่อไป ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับทั้งนักท่องเที่ยวและประชาชน
โดยมาตรการทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อรองรับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ มี 5 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 ด้านวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชน โดยรัฐบาลได้ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนชาวภูเก็ตที่มีอยู่ประมาณ 540,000 คน รวมถึงประชากรแฝง กลุ่มแรงงาน ทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย มาตรการที่ 2 การคัดกรองคนเข้าเมือง โดยผู้ที่มาจากต่างจังหวัดและพื้นที่เสี่ยงทั้งด่านอากาศ ด่านบก และ ด่านท่าเรือ จะต้องได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มหรือมีผลตรวจคัดกรองโควิด-19 ในเวลา 72 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเล็ดลอดของเชื้อเข้ามาในจ.ภูเก็ต , มาตรการที่ 3 เฝ้าระวังเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงและชุมชนเสี่ยง โดยเฉพาะชุมชนที่มีผู้ได้รับวัคซีนน้อยกว่าเกณฑ์ เช่น โรงเรียน จึงมีการสุ่มตรวจต่อเนื่องอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 คร้ัง
มาตรการที่ 4 ความพร้อมในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนตามเงื่อนไข ที่เดินทางมาถึงไทยแล้วยังคงต้องตรวจหาเชื้อซ้ำ อีก 3 คร้ังคือวันแรกที่เดินทางมาถึง วันที่ 3 -5 และวันที่ 13-14 โดยห้องปฏิบัติการสามารถ ตรวจหาเชื้อได้ประมาณวันละ 1,500 ตัวอย่าง และจะประสานกับเอกชนเพิ่มปริมาณตรวจหาเชื้อ สามารถตรวจได้ถึงวันละ 3,000 คน นอกจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะช่วยสนับสนุนใน ด้านเทคนิคในการตรวจหาเชื้อกลายพันธุ์ได้ภายใน 24 ชั่วโมง
มาตรการที่ 5 ด้านการรักษาพยาบาล โดยเตรียมเตียงและห้อง ICU รองรับผู้ป่วยประสิทธิภาพสูงเทียบเท่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่และCohort ICU เพื่อรองรับผู้ป่วย ที่มีอาการและพร้อมในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามได้ภายใน 48 ชั่วโมง
ในส่วนของแผนเผชิญเหตุกรณีเกิดการแพร่ระบาดขึ้นนั้น จะเริ่มตั้งแต่ปรับลดกิจกรรมลง, กำหนดให้เที่ยวในเส้นทางที่กำหนด, ให้ทำกิจกรรมในพื้นที่ที่พัก ไปจนถึงยุติโครงการ ตามเงื่อนไขสถานการณ์ 5 ระดับ ได้แก่ กรณีที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนน้อยกว่า 90 รายต่อสัปดาห์ ,ลักษณะการกระจายของโรคทั้ง 3 อำเภอและมากกว่า 6 ตำบล ,มีผู้ติดเชื้อครองเตียงมากกว่า 80% ของศักยภาพของจังหวัด ,มีการระบาดมากกว่า 3 คลัสเตอร์หรือระบาดในวงกว้างหรือหาความเชื่อมโยงไม่ได้ และพบการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์แบบวงกว้างควบคุมไม่ได้
ทั้งนี้ ปัจจุบันเตียงรองรับผู้ป่วยวิกฤต สีแดง ในจังหวัดภูเก็ตมี 26 เตียง ใช้ไป 9 คงเหลือ 17 เตียง , เตียงรับผู้ป่วยอาการปานกลาง สีเหลือง ในจังหวัดภูเก็ตมี 195 เตียง ใช้ไป 27 คงเหลือ 168 เตียง , เตียงรับผู้ป่วยอาการน้อย สีเขียว ในจังหวัดภูเก็ตมี 435 เตียง ใช้ไป 15 คงเหลือ 420 เตียง
ด้านเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ทุกรายการมีสต๊อกได้เกิน 1 เดือน ยาฟาวิพิราเวียร์ ปัจจุบันคงเหลือ 3,772 เม็ด แต่ของเขตสุขภาพที่ 11 คงเหลือ 21,864 เม็ด ขณะที่ทีมสอบสวนโรค ในจังหวัดภูเก็ต มี 23 ทีม ขณะที่ทั้งเขตสุขภาพที่ 11 มี 120 ทีม การตรวจทางห้องปฏิบัติการ มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวตรวจ RT-PCR นอกโรงพยาบาล จำนวน 5 จุด ประกอบด้วย คลินิกเวชกรรมภูเก็ตไม้ขาว(โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต) คลินิกเวชกรรมลากูน่าภูเก็ต (โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต) ศูนย์การค้าเซนทรัลภูเก็ต(โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต) ศูนย์การค้าจังซีลอน (โรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์) และกะตะเซ็นเตอร์ (โรงพยาบาลมิชชั่นภูเก็ต) .-สำนักข่าวไทย