ทำเนียบรัฐบาล 28 มิ.ย.-โฆษก ศบค.แจงไม่ได้สั่งปิดร้าน แต่ซื้อกลับบ้านได้ ขอสมาคมอุตฯ ก่อสร้าง-สมาคมภัตตาคารและอาหารหารือกัน ขอความร่วมมือผู้ประกอบการประกอบอาหารให้แรงงานในแคมป์ ย้ำเร่งหามาตรการดูแล
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงว่า ที่ประชุมศูนย์บริการสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเช้านี้ (28 มิ.ย.) ได้พิจารณาผลกระทบจากการที่ ศบค.ออกข้อกำหนดฉบับที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อนำผลกระทบของคนกลุ่มนั้นมาพิจารณา โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่จะต้องปิดกิจการเป็นในพื้นที่ 6 จังหวัด ซึ่งมีจำนวนถึง 697,315 คน ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงการคลัง เช่น ได้ 50% ของรายได้ หรือค่าแรง แต่ไม่เกิน 7,500 บาท และหากคนกลุ่มนี้อยู่ในระบบประกันสังคมด้วยจะได้เพิ่มอีก 2,000 บาท ส่วนถ้าไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมก็ให้ไปลงทะเบียนภายใน 1 เดือน
“บางคนที่ไม่มีลูกจ้างแต่เป็นคนที่รับจ้างเองทำเอง หาบเร่ แผงลอย ให้ไปขึ้นทะเบียนในแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ผ่านโครงการคนละครึ่ง ก็จะได้รับการเยียวยาด้วย ส่วนที่อยู่ในระบบประกันสังคม จะได้รับการเยียวยาตามที่ได้ลงทะเบียนไว้แล้ว ส่วนกรณีที่ร้านอาหารได้รับผลกระทบจาการเตรียมวัตถุดิบสำหรับการทำอาหารไว้ล่วงหน้า แต่ถูกสั่งให้ปิดในวันจันทร์ ความจริงไม่ได้สั่งปิดร้าน เพราะสั่งซื้อกลับบ้านได้ จึงขอให้สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างกับสมาคมภัตตาคารและอาหารหารือกัน โดยขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการใช้บริการของร้านอาหารรายย่อย แม่ค้า แผงลอย จัดอาหารให้กับแรงงานก่อสร้างที่อยู่ในไซด์งาน” โฆษกศบค. กล่าว.-สำนักข่าวไทย