รัฐสภา 18 พ.ค.-สภาฯ เตรียมถกร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี2565 วันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย.นี้ วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ลดฮวบ 1.8 แสนล้าน จับตาไร้เงินเยียวยาโควิด-19
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณารับหลักการ วาระแรก ร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้กำหนดให้มีการพิจารณา ระหว่างวันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย.นี้โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว คณะรัฐมนตรีได้ชี้แจงถึงภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2565 ที่คาดว่าจะขยายตัวโดยมีปัจจัยจากการขยายตัวในภาคต่างประเทศตามแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและประมาณการค้าโลก รวมทั้งการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชนภาคท่องเที่ยวมีแนวโน้มจะกลับมาฟื้นตัวภายหลังการเดินทางระหว่างประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ การจัดทำร่างกฎหมายงบประมาณดังกล่าวรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อเพิ่มศักยภาพในการถ่ายโอนภารกิจในระดับท้องถิ่นส่งไปยังประชาชนซึ่งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาประสิทธิภาพทั้งในเรื่องของการจัดเก็บรายได้สอดรับกับหลักการตามพระราชบัญญัติกําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อการดำรงชีวิตและลดความเสี่ยงจากการได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการตั้ง วงเงินงบประมาณไว้ทั้งสิ้น 3,100,000,000,000 บาท (3.1 ล้านล้านบาท) ลดลงจากปี 2564 ร้อยละ 5.66 (งบประมาณปี 2564 คือ 3,285,962.5 ล้านบาท) มีโครงสร้างงบประมาณ ดังนี้ รายจ่ายประจำ 2,360,543 ล้านบาท รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 596.7ล้านบาท รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรอง24,978.6 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน 624,399.9 ล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 100,000ล้านบาท โดยประมาณการรายได้ 2.4ล้านล้านบาท งบขาดดุล 700,000ล้าน
สำหรับรายละเอียดการจัดสรรงบของหน่วยงาน พบว่ามีการตั้งงบกลาง 571,047.3 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 43,568.9 ล้านบาท โดยรายละเอียดค่าใช้จ่ายงบกลางมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินและการต้อนรับประมุขต่างประเทศ 800 ล้านบาท(รองรับการประชุมAPEC ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพในปี2565) ค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดลองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 5,000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2,300 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ 74,000 ล้านบาท เงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง 500 ล้านบาท เงินช่วยเหลือข้าราชการลูกจ้างและพนักงานของรัฐ 4,360 ล้านบาท เงินเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ 310,600 ล้านบาท เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ 11,547 ล้านบาท เงินสมทบของลูกจ้างประจำ 570 ล้านบาท เงินสำรองเงินสมทบและเงินชดเชยของข้าราชการ 72,370 ล้านบาท เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 89,000 ล้านบาท ส่วนเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด ไม่มีการจัดสรรไว้ในงบกลางเหมืองปี2564
ส่วนงบประมาณรายกระทรวง มี 5 กระทรวงรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายสูงสุด ได้แก่1.กระทรวงศึกษาธิการ วงเงิน 332,398.6 ล้านบาท ซึ่งได้รับจัดสรรลดลงจากปีก่อน 24,051ล้านบาท 2.กระทรวงมหาดไทย วงเงิน 316,527 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 17,144 ล้านบาท 3.กระทรวงการคลัง วงเงิน 273,941.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5,501ล้านบาท 4.กระทรวงกลาโหม วงเงิน 203,282 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 11,248 ล้านบาท 5.กระทรวงคมนาคม วงเงิน 175,858.7 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 14,100 ล้านบาท ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 153,940 ล้าน ลดลง4,338 ล้านบาท สำหรับงบประมาณของกองทัพกระทรวงกลาโหมที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 203,282 ล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้ว 11,248 ล้าน แบ่งเป็น กองทัพบก 99,376.8 ล้านบาท กองทัพเรือ 41,307.4 ล้านบาท กองทัพอากาศ 38,404.8 ล้านบาท กองบัญชาการกองทัพไทย 14,580.1 ล้านบาท สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 9,197.2 ล้านบาท และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ 415.7 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย