รัฐสภา ยืนจำนวนประชาชนที่จะเสนอทำประชามติที่ 5 หมื่นชื่อ เพื่อป้องกันความขัดแย้งในชุมชน แม้ฝ่ายค้านอยากให้ลดเหลือ 1 หมื่นชื่อ
รัฐสภา วันนี้ ( 7 เม.ย. ) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติรายมาตรา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเป็นประธานการประชุม ได้พิจารณามาตรา 11 วรรค 2 ที่กำหนดไว้ว่า จำนวนประชาชนที่จะเข้าชื่อเสนอให้มีการทำประชามติได้ จะต้องมีไม่น้อยกว่า 50,000 ชื่อ ซึ่งฝ่ายค้านส่วนใหญ่ติดใจ และมองว่าอาจทำให้การขอทำประชามติโดยประชาชนเป็นไปได้ยาก
โดยนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายสงวนคำแปรญัตติในมาตรานี้ เห็นว่าตัวเลข 50,000 คนนั้นสูงเกินไป เพราะตามพระบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนมีการกำหนด การเข้าชื่อเสนอกฎหมายอยู่ที่ 10,000 คน ดังนั้นการเข้าชื่อเพื่อขอจัดทำประชามติควรจัดทำให้สอดคล้องกัน อีกทั้งการเข้าชื่อ 10,000 คนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในท้ายที่สุดการจัดทำประชามติก็ต้องขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรี ดังนั้นการลดจำนวนเข้าชื่อของประชาชนจาก 50,000 เป็น 10,000 คน ถือว่าเหมาะสมที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้การเป็นประชาธิปไตยทางตรงยิ่งขึ้น
ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล กรรมาธิการเสียงข้างน้อย ในสัดส่วนพรรคเพื่อไทย ที่เสนอให้ประชาชนและรัฐสภา มีสิทธิเข้าชื่อเสนอขอทำประชามติได้ ลุกขึ้นยืนยันว่า ตนได้ขอสงวนคำแปรญัตติในประเด็นเดียวกับนายณัฐวุฒิ เพราะการทำประชามติ ไม่ได้กำหนดการทำประชามติเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ประชาชนสามารถขอทำประชามติในเรื่องที่เกี่ยวข้องระดับพื้นที่ได้ และการให้ประชาชนเข้าชื่อกันครั้งนี้เป็นเพียงการริเริ่มในการขอจัดทำประชามติเท่านั้น เพราะแม้ประชาชนเข้าชื่อแล้ว การทำประชามติอาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ เพราะคณะรัฐมนตรีอาจไม่เห็นด้วย ดังนั้นการเสนอให้ประชาชนเข้าชื่อเพียง 10,000 คน ก็เหมาะสมแล้วเช่นเดียวกัน
พล.อ.ต. เฉลิมชัย เครืองาม กมธ.เสียงข้างมาก ยืนยันว่าตัวเลขการเข้าชื่อขอทำประชามติที่ 50,000 ชื่อเหมาะสมแล้ว เพราะจากข้อมูลทางวิชาการและข้อมูลจากต่างประเทศจะเห็นว่าตัวเลขการเข้าชื่อทำประชามติยิ่งน้อย ยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งโดยเฉพาะในชุมชนที่มีความเห็นต่าง เพราะต่างฝ่ายต่างก็จะรวบรวมรายชื่อเสนอให้ทำประชามติในเรื่องที่ตัวเองไม่เห็นด้วย
ในที่สุดที่ประชุมมีมติเห็นชอบตาม กมธ. เสียงข้างมาก ด้วยคะแนน 347 ต่อ154 งดออกเสียง 1 เสียงไม่ลงคะแนน 2 เสียง อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่กำหนดให้ ส.ว. มีอำนาจแยกประชุม ให้ความเห็นชอบการขอทำประชามตินั้น ฝ่ายค้านส่วนใหญ่อภิปรายไม่ติดใจ แม้จะมีข้อกังวลว่าจะทำให้การทำประมติที่เสนอโดยสมาชิกรัฐสภาเป็นไปได้ยาก แต่เพราะรัฐธรรมนูญไม่ให้ที่ประชุมรัฐสภาสามารถพิจารณาการขอออกเสียงประชามติได้ จึงจำเป็นต้องแยกสภาในการพิจารณา