ฟ้องตำรวจสลายชุมนุมไม่ใช้หลักสากล

ศาลปกครอง  วันนี้  ( 26 มี.ค.) ภาคีนักกฎหมายฯ ฟ้องตำรวจฉีดน้ำสารเคมีสลายการชุมนุมหน้าสภา 17 พ.ย. 63  ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย-ไม่เป็นไปตามหลักสากล  ขอศาลปกครองสั่งหยุดใช้กำลังต่อผู้ชุมนุมเกินกว่าเหตุ   


ภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน นำโดย นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมทางการเมือง  แนวร่วมกลุ่มราษฏร  พร้อมด้วยตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง  ด้านหน้าอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง  เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยุติการใช้กำลังจัดการการชุมนุมที่เกินสมควรแก่เหตุกับผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรและกลุ่มผู้ชุมนุมอื่นๆ นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการละเมิดเสรีภาพการชุมนุมผู้ฟ้องคดี

นายอัมรินทร์ สายจันทร์ ทนายความ เปิดเผยว่า การยื่นฟ้องคดีวันนี้เพื่อต้องการให้เป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสอบการใช้อำนาจของตำรวจเกี่ยวกับการควบคุมดูแลการชุมนุมสาธารณะ  เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในการกำกับดูแลการทำหน้าที่ของตำรวจในการคุ้มครองเสรีภาพการชุมนุม การดูแลความปลอดภัย ทั้งของผู้ชุมนุมและประชาชน  โดยท้ายคำร้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดี ยุติการใช้กำลังจัดการการชุมนุมที่เกินกว่าเหตุ  อันเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญและเป็นการใช้กำลังโดยไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ. ศ.2558 ไม่เป็นไปตามแผนดูแลการชุมนุมสาธารณะและคู่มือการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ   โดยเฉพาะการใช้กำลังและเครื่องมืออุปกรณ์ควบคุมฝูงชนที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล  เช่น  ห้ามฉีดน้ำแรงดันสูงผสมแก๊สน้ำตาหรือสารเคมี  และหรือห้ามใช้กระสุนยางยิงใส่ผู้ชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ   ห้ามวางสิ่งกีดขวางขัดขวางการใช้เสรีภาพในการชุมนุมเกินกว่าเหตุโดยไม่มีเหตุอันควร


ด้านนางอังคณา ลีนะไพจิตร  กล่าวว่า ในวันดังกล่าวตนเดินทางไปเพื่อจะเข้าร่วมประชุม  ในฐานะกรรมาธิการ ที่รัฐสภา และได้มีการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ก่อนเดินทาง  โดยได้รับคำยืนยันว่าสามารถเดินทางเข้าอาคารได้  การจราจรปกติ ซึ่งตนเดินทางไปก่อนที่การชุมนุมจะเริ่ม  ก็พบว่ามีการปิดกันเส้นทางแล้ว  เมื่อเจรจากับเจ้าหน้าที่ขอเปิดช่องทางเล็ก ๆ เพื่อผ่านเจ้าหน้าที่ก็ไม่รับฟัง  และมีการขู่ว่าหากเข้าใกล้แนวกั้นก็จะทำการฉีดน้ำ ใช้แก๊สน้ำตา กระสุนยาง  ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัว เห็นว่าบริเวณรัฐสภา เป็นพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยที่ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นแสดงออกได้  พื้นที่หน้ารัฐสภาไม่ควรที่จะถูกจำกัด  หากมีเหตุการณ์ที่จะต้องปิดกั้น  เจ้าหน้าที่ควรมีความยืดหยุ่น  แต่การกระทำของเจ้าหน้าที่วันดังกล่าว เหมือนพยายามที่จะใช้ความรุนแรง  ปราบปรามอย่างเดียวโดยที่ไม่การผ่อนปรน

นางอังคณา  กล่าวอีกว่า เหตุที่เพิ่งมาฟ้องส่วนหนึ่งเพราะหลายๆ คนกังวล หวาดกลัว เรื่องความปลอดภัยว่าจะถูกแก้แค้นหรือไม่ ถ้ามาฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ   ซึ่งจริงๆ ควรมีกลไกตรวจสอบการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และเราพบว่าหลังจากวันที่ 17 พ.ย.63  เจ้าหน้าที่เองก็ใช้กำลังมาโดยตลอด  แม้เจ้าหน้าที่ออกมาขอโทษ  แต่ก็ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบอะไร ไม่ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน  ไม่มีการชดใช้หรือเยียวยา  และในวันนั้นไม่มีกระทั่งรถพยาบาล  ที่จะนำตัวผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล  มีแต่การช่วยเหลือกันเองของผู้ชุมนุม  ส่วนตัวก็หวัง ว่าศาลปกครองจะเป็นที่พึ่งของประชาชนในการที่ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

 น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว กล่าวว่า ตนมาฟ้องคดีในฐานะผู้เสียหาย  จากการไปร่วมชุมนุมในวันดังกล่าว ที่โดนแรงดันน้ำ และสารเคมีที่อยู่ในน้ำ  ทำให้เกิดอาการผิวหนังแพ้สารเคมี ไอเป็นเลือด  ซึ่งเห็นว่าการชุมนุมในวันดังกล่าวผู้ชุมนุมขาดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ  ทั้งที่การชุมนุมของคณะราษฎร์ตั้งแต่ปีที่แล้วเรื่อยมาจนปัจจุบัน   เราได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ  ชอบด้วยกฎหมาย แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่กลับพยายามขัดขวางการชุมนุมทำให้เจตจำนงของประชาชนที่ต้องการจะแสดงพลังและยืนยันว่าสภาผู้แทนราษฎรควรที่จะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนไม่เกิดขึ้นจริง และเมื่อมันเสียหายไปแล้วมันเป็นความเสียหายครั้งใหญ่ของประชาชนและประเทศชาติ ที่มันไม่อาจเรียกคืนกลับมาได้


“ที่ตัดสินใจเป็นผู้ที่ยื่นฟ้องในคดีนี้  ก็เพื่อประกันสิทธิ  ว่าสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของประชาชนและคนไทยทุกกลุ่ม  ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยกับรัฐบาล  หรือเห็นต่างกับรัฐบาล  หรือมีข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันก็ต้องสามารถทำได้เช่นเดียวกัน  มันไม่ควรจะมีข้อห้ามใดๆ  รวมทั้งต้องการตรวจสอบอำนาจการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะนับตั้งแต่ปี 63 เจ้าหน้าที่ตำรวจมักไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย แม้จะมี พ.ร.บ.การชุมนุม  มีแผนรับมือการชุมนุมสาธารณะ แต่การดำเนินการของตำรวจกลับขัดต่อกฎหมายโดยตลอด  และกลับนำกฎหมายดังกล่าวมาดำเนินการเอาผิดกับผู้ชุมนุม ซึ่งหวังว่าการยื่นฟ้องศาลปกครองในวันนี้จะเป็นบรรทัดฐาน เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมอีก” น.ส.ชลธิชา กล่าว นอกจากนี้ผู้ปกครองเด็ก 3  ขวบที่ได้รับผลกระทบ  กล่าวว่า วันดังกล่าวคิดว่าตำรวจทำเกินกว่าเหตุ  ตนและลูกไม่ได้มีเจตนาจะเข้าไปร่วมชุมนุมเลย  เพียงแค่ผ่านไป  ซึ่งตอนที่ไปเจ้าหน้าที่ยังเปิดให้เข้าอยู่   เมื่อเข้าไปก็เจอกับผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่งก็วนกลับ  คิดว่าจะออกทางเก่าได้  แต่เมื่อกลับมาตำรวจปิดทางเก่าแล้ว  ซึ่งเป็นช่วงเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุม 2 กลุ่มกำลังดันกันเข้ามา  ทำให้ตนและลูกไม่สามารถออกมาได้  แล้วไปปรากฏเป็นภาพข่าวที่ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดกล่าวหาว่า ผู้ปกครองพาเด็กเข้าไปเพื่อที่จะให้เป็นโล่มนุษย์รับแรงดันน้ำสูง  ซึ่งแค่รถน้ำธรรมดาก็รุนแรงพอแล้ว  แต่กลับมีการผสมสารเคมีเข้าไป เด็ก 3 ขวบทนไม่ไหวแน่  จึงอยากฝากเจ้าหน้าที่ตำรวจพิจารณามาตราการในการควบคุมฝูงชนให้ดีกว่าที่ผ่านมา ผลกระทบที่เกิดขึ้น ถ้าไปโดนกับลูกหลานตำรวจขึ้นมาบ้าง จะรู้สึกอย่างไร

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ข่าวแนะนำ

ซุ้มไฟเฉลิมพระเกียรติฯ สุดตระการตา รับประเพณียี่เป็ง

ยามค่ำคืนในตัวเมืองเชียงใหม่ ประดับประดาด้วยแสงไฟรับประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทงเชียงใหม่ โดยเฉพาะบนถนนท่าแพ มีการสร้างซุ้มประดับไฟเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 14 ซุ้ม ยาวกว่า 200 เมตร.

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมรีดทรัพย์ รับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพื่อขายงาน

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมเรียกรับเงิน 20 ล้านบาท จากดิไอคอน ยอมรับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพราะต้องการขายงาน

คุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง เจ้าตัวเงียบรีบเดินขึ้นรถตู้

ตำรวจกองปราบคุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง ผู้ต้องหาปัดตอบสื่อ ด้านพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว เพราะมีพฤติการณ์หลบหนี