รัฐสภา 23 มี.ค.-“วันชัย” เผย กมธ.เตรียมถกร่างพ.ร.บ.ประชามติต่อ 1-2 เม.ย.นี้ หวั่นถูกตีตกหรือถูกร้องศาล เตือนบานปลายเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ รัฐสภา เปิดเผยความคืบหน้าการปรับแก้ร่างพระราชบัญญัติวาด้วยการออกเสียงประชามติ หลังกรรมาธิการฯ ขอถอนออกจากการพิจารณาเพื่อปรับแก้ในมาตราอื่น ๆ ให้สอดคล้องกับมาตรา 9 ที่เพิ่มอำนาจรัฐสภาและประชาชน เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) จัดออกเสียงประชามติได้ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับแก้โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าจะนำมาพิจารณาต่อในชั้นกรรมาธิการได้ในวันที่ 1-2 เมษายนนี้ ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาวาระ 2 ต่อไป
“ผมกังวลว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญที่บีบบังคับให้ครม.ต้องจัดการออกเสียงประชามติมากเกินไป เพราะรัฐธรรมนูญ ให้อำนาจการจัดประชามติ สามารถทำได้ 2 กรณี คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญและในประเด็นที่ครม.เห็นสมควร ดังนั้น กฤษฎีกาและกรรมาธิการต้องปรับแก้เพื่อให้เกิดความสมดุล และถ่วงดุลการจัดการออกเสียงประชามติ โดยที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่แทรกแซงฝ่ายบริหาร” นายวันชัย กล่าว
นายวันชัย กล่าวถึงกระแสข่าวที่รัฐสภาอาจตีตกร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ว่า มีความเป็นไปได้ และยังมีประเด็นที่น่าพิจารณาว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเสนอมาโดยครม. หากกฎหมายไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามมารยาททางการเมืองเป็นสิ่งที่รัฐบาลอาจต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก หรือหากผ่านวาระ 3 อาจจะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการปรับแก้ของรัฐสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือหากรัฐสภาให้ความเห็นชอบประกาศใช้เป็นกฎหมาย อาจกำหนดเงื่อนไขให้อำนาจรัฐสภาและประชาชน เสนอครม.จัดการออกเสียงประชามติไว้ในบทเฉพาะกาลว่าจะเริ่มดำเนินการได้เมื่อใด หรืออาจเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้อีกครั้งก็ได้
“การเป็นพรรคร่วมรัฐบาลและการประชุมรัฐสภา ไม่ได้หมายความว่าเสียงข้างมากจะชนะเสมอไป เพราะมีพรรคร่วมรัฐบาลสนับสนุนการปรับแก้กฎหมายของฝ่ายค้าน และยังไม่มั่นใจว่าความขัดแย้งนี้ รัฐบาลจะสามารถตกลงกันได้หรือไม่ ซึ่งในสมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี เคยมีบทเรียนที่สภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ แต่ไม่ผ่านการพิจารณา และแม้จะไม่ใช่ร่างกฎหมายสำคัญ แต่เมื่อกฎหมายไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภา ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่จนถึงขั้นการยุบสภา และจากการดำเนินการที่ผ่านมาทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการขบเหลี่ยมกันในพรรคร่วมรัฐบาลหลายครั้ง จึงมองว่า อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองได้เช่นกัน” นายวันชัย กล่าว
ส่วนจะมีโอกาสที่พรรคร่วมรัฐบาลจับมือกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคว่ำร่างกฎหมายประชามติให้นำไปสู่การยุบสภาหรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า ไม่น่าจะมีโอกาสเกิดขึ้น เพราะไม่มีส.ส.ต้องการให้ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ และอำนาจการยุบสภาจะเกิดขึ้นได้ ต้องเมื่อมีเหตุที่ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติมีความขัดแย้ง ไม่สามารถไปต่อได้ จึงต้องยุบสภา ซึ่งการยุบสภาอาจเป็นทางออกของปัญหาในปัจจุบัน เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจเลือกตั้งใหม่
“หากเกิดการเลือกตั้งใหม่ภายใต้กติกานี้ เชื่อว่าพรรคการเมือง รู้ทันกติกาการเลือกตั้งใหม่แล้ว และเห็นว่าหากส.ส.สามารถรวมเสียงกันให้ได้มากเกิน 250 เสียง การเมืองจะไม่เหมือนกับที่ผ่านมา เพราะเมื่อใดที่ส.ส.รวมเสียงได้มากกว่า 250 เสียง แม้จะมีส.ว. แต่ส.ส.ก็มีอำนาจต่อรองได้ แม้ ส.ว.จะมีส่วนในการเลือกนายกรัฐมนตรีได้ แต่การดำรงอยู่สำคัญกว่าการเลือก ดังนั้น ส.ส. 250 เสียง จึงยิ่งใหญ่กว่า ส.ว. 250 เสียง” นายวันชัย กล่าว
นายวันชัย กล่าวว่า พร้อมปิดสวิตซ์ตนเองในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมรัฐสภา และจากการพูดคุยกับส.ว.หลายคนสนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภาด้วย.-สำนักข่าวไทย