กรุงเทพฯ 26 ก.พ. – ตั้ง “วิชัย เดชดี” รักษาการรองเลขาธิการ กกต.ด้านสืบสวนฯ หลัง “ดุษฎี” ลาออก ขณะที่การสรรหารองเลขาฯ แทนตำแหน่งที่ว่างล่าช้า งานไม่เดิน กระทบร้องเรียน อบจ. และเลือกตั้งเทศบาล
วันนี้ ( 26 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวานนี้ ( 25 ก.พ.) พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ได้ลงนามในคำสั่งสำนักงาน กกต.ที่ 64/2564 เรื่องให้พนักงานตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้นรักษาการในตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง และคำสั่งสำนักงาน กกต.ที่ 65/2564 เรื่องแก้ไขคำสั่งสำนักงาน กกต.ที่ 330/2562 ลงวันที่ 15 ก.ค. 62 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแต่งตั้งนายวิชัย เดชดี ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย 1 ให้รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการ กกต. อีกตำแหน่งหนึ่ง โดยรับผิดชอบสั่งและปฏิบัติหน้าที่แทนสำหรับงานของสำนักสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย 1-5 และสำนักสนับสนุนงานสืบสวนสอบสวน สำนักวินิจฉัยและคดี รวมทั้งให้มีอำนาจสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติงาน และดำเนินการอื่นใดเกี่ยวกับระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือเกี่ยวเนื่องกับระเบียบดังกล่าว แทนเลขาธิการ กกต. โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมนี้เป็นต้นไป
คำสั่งดังกล่าวเป็นผลมาจากนายดุษฎี พรสุขสวัสดิ์ รองเลขาธิการ กกต. ซึ่งเป็นรองเลขาฯ อาวุโสอันดับ 1 และรับผิดชอบงานด้านการสืบสวนสอบสวน ยื่นหนังสือลาออกเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยอ้างเหตุปัญหาสุขภาพ และขอให้การลาออกมีผลในวันที่ 1 มีนาคม ทั้งที่มีกำหนดจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายนนี้ โดยเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เลขาธิการ กกต. ได้ลงนามในคำสั่งสำนักงาน กกต. อนุญาตให้ลาออก
อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนตุลาคม 2563 สำนักงาน กกต. ได้มีการดำเนินกระบวนการสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ กกต. ที่ว่างลงเนื่องจากมีการเกษียณอายุไปเมื่อเดือนกันยายน 2563 รวม 2 ตำแหน่ง และผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง 1 ตำแหน่ง ซึ่งจะมีผู้สมัครเข้ารับการสรรหา 14 ราย โดยมี 13 ราย มาแสดงวิสัยทัศน์ พร้อมสัมภาษณ์กับคณะกรรมการคัดเลือก ที่ประกอบด้วยรองเลขาธิการ กกต. 4 คน และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกอีก 2 คน เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ซึ่งในวันดังกล่าวคณะกรรมการคัดเลือกได้มีการพิจารณาประวัติ ผลงาน การเข้าสู่ตำแหน่ง ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และเสนอรายชื่อผู้ผ่านการสัมภาษณ์และวิสัยทัศน์ โดยไม่ได้เรียงคะแนน แต่เรียงชื่อตามตัวอักษร รวม 9 ราย ไปยังเลขาธิการ กกต.แล้ว ซึ่งจนถึงปัจจุบันเลขาธิการ กกต. ยังไม่คำสั่งแต่งตั้ง
ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ นายดุษฎี รองเลขาฯ กกต. ก็มายื่นหนังสือลาออกอีก ส่งผลให้ขณะนี้เหลือรองเลขาธิการ กกต. อยู่เพียง 3 คน จากที่ต้องมีทั้งสิ้น 6 คน ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่พนักงาน กกต. ถึงความล่าช้า และมองว่ามีผลกระทบต่อภารกิจของสำนักงานในขณะนี้ที่ต้องจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น และพิจารณาเรื่องร้องคัดค้าน ทั้งเลือกตั้ง ส.ส. อบจ. และเทศบาล.-สำนักข่าวไทย