รัฐสภา 18 ม.ค. – “ชวน” ให้กำลังใจกรรมการสมานฉันท์ ตั้งเป้าทำเพื่อบ้านเมือง แม้ไร้ฝ่ายค้านร่วม เชื่อทำงานได้ ขอ 2 สัปดาห์ รายงานความคืบหน้า ขณะที่ประชุมมีมติเอกฉันท์เลือก “เทอดพงษ์ ไชยนันทน์” นั่งประธาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (18 ม.ค.) มีการประชุมนัดแรกของคณะกรรมการสมานฉันท์ ซึ่งมีกรรมการทั้ง 11 คน เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง โดยนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เข้าร่วมการประชุม เพื่อให้กำลังใจต่อการทำงานในการประชุมนัดแรก ซึ่งที่ประชุมมีมติเอกฉันท์คัดเลือกให้นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานคณะกรรมการสมานฉันท์
นายชวน กล่าวตอนหนึ่งว่า ขอให้กำลังใจคณะกรรมการฯ ในการทำงาน เพราะถูกมองว่าล้มเหลว ตั้งแต่ยังไม่ได้ทำงาน เนื่องจากไม่มีฝ่ายค้าน แต่ตนมองว่า การทำงานของกรรมการไม่ใช่ความขัดแย้งของฝ่ายค้าน หรือของรัฐบาล แต่เป็นปัญหาของบ้านเมือง ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันระดมความคิดเห็น เพื่อบรรเทาเหตุการณ์ความไม่สงบและความขัดแย้งของบ้านเมือง แม้ไม่มีฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายค้านก็ตาม
“ผมหวังในภารกิจ แต่ไม่ได้หวังผลเลิศ แต่สิ่งที่อยากเห็น คือ การมีโอกาสพูดคุยและรู้ข้อเท็จจริงร่วมกัน ฟังผู้รู้ให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ แต่ละฝ่ายให้ความเห็น รวมถึงเห็นความสำคัญของความสงบ ประโยชน์ของบ้านเมือง ไม่ใช่ของกลุ่มหรือพรรคหรือส่วนบุคคล แต่คือประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศเป็นเป้าหมายสำคัญ” นายชวน กล่าว
นายชวน กล่าวด้วยว่า สำหรับที่มาของกรรมการสมานฉันท์ เกิดจากการยื่นญัตติในที่ประชุมรัฐสภา เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2563 ที่มีสถานการณ์การชุมนุม และมีความเห็นว่าควรจะมีกรรมการเพื่อแก้ปัญหา และหาวิธีป้องกัน ซึ่งในอดีตเคยมีปลุกระดมผ่านสื่อวิทยุ รวมถึงในอนาคตมีการใช้สื่อโซเชียลมีเดียตัดต่อ ทำให้เกิดความขัดแย้ง ทั้งนี้ การแก้ปัญหาไม่ควรทำเป็นเรื่องเฉพาะหน้า แต่ให้มองถึงอนาคตด้วยว่าจะป้องกันได้อย่างไร นอกจากนั้นขอให้ยึดมั่นในกฎหมายและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนตัวสนับสนุนการทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์ และจะติดตามทุกระยะ ทั้งนี้ ขอให้กรรมการช่วยรายงานการดำเนินงาน เมื่อทำงานครบ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายฝ่ายไม่หวัง แต่ส่วนตัวหวังบ้าง ประชาชนหวังว่าระดับบุคคลไม่ธรรมดา ความคิดประสบการณ์ที่สูง จะส่งให้บ้านเมืองเข้าใจ และประสานกันดีขึ้นมากกว่าที่ผ่านมา
นายชวน ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการทำงานของกรรมการจะเป็นความหวังให้กับการเมืองไทยหรือไม่ ว่า ทุกคนต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ทั้งนี้ ได้ให้รายงานความคืบหน้าให้รับทราบใน 2 สัปดาห์ โดยยืนยันว่าไม่ใช่การแทรกแซง เพียงแค่ให้รายงาน เพราะยังมีรายละเอียดของการทำงาน เช่น การตั้งกรรมการสมานฉันท์ส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ และฝ่ายผู้ชุมนุม ที่ตนต้องลงนามแต่งตั้งเพิ่มเติม
ประธานรัฐสภา ย้ำว่า การไม่มีฝ่ายค้านเข้าร่วม ไม่ใช่อุปสรรคในการทำงานของคณะกรรมการ ดังนั้น หลักการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ ต้องยึดการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นหลัก จะต้องไม่ทำเรื่องผิดให้เป็นเรื่องถูก และจะต้องไม่ทำให้เรื่องถูกเป็นเรื่องผิด ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้น ได้หารือกับสถาบันพระปกเกล้าแล้ว เห็นว่าควรนำปัญหาในอดีตมาศึกษา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะการใช้สื่อ หรือวิทยุชุมชน หรือแม้แต่สื่อออนไลน์ มาปลุกระดม ทั้งนี้ ส่วนตัวขอให้กำลังใจทุกคนในการทำหน้าที่ อย่างไรก็ตาม การทำงานของกรรมการนั้นไม่ได้กำหนดกรอบเวลาให้ทำงานสิ้นสุดเมื่อใด ส่วนกรณีที่ไม่มีฝ่ายค้านเข้าร่วม และหลายคนมองว่าไม่สำเร็จนั้น เห็นว่าการทำงานของกรรมการ อาจแต่งตั้งอนุกรรมการ หรือคณะทำงานหรือศึกษา โดยขอความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ได้. – สำนักข่าวไทย