กทม. 10 ธ.ค. – วันนี้มีการทำกิจกรรมชุมนุมเนื่องในวันรัฐธรรมนูญ 3 จุด คือหน้าสำนักงานยูเอ็น อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา บริเวณสี่แยกคอกวัว และหน้า ก.พัฒนาสังคมฯ จี้รัฐบาลยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงปล่อยตัวและยุติการดำเนินคดีกับคณะราษฎร 63 ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา
วันนี้มีการทำกิจกรรมชุมนุมเนื่องในวันรัฐธรรมนูญหลักๆ 3 จุด จุดแรกหน้าสำนักงานสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ถนนราชดำเนินนอก กลุ่ม 24 มิถุนาเพื่อประชาธิปไตย มีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นแกนนำ เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงปล่อยตัวและยุติการดำเนินคดีกับคณะราษฎร 63 ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรานี้
เริ่มชุมนุมตั้งแต่เวลาประมาณ 10.00 น. มีการตั้งเวทีปราศรัยขนาดเล็กที่หน้ายูเอ็น ซึ่งนายสมยศได้ยื่นหนังสือถึงองค์การสหประชาชาติ กดดันรัฐบาลยกเลิกกฎหมาย มาตรา 112 ที่ทางกลุ่มมองว่าปิดกั้นสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก และมองว่าเป็นเครื่องมือทำลายล้างทางการเมือง ก่อนประกาศยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ 12.00 น.
จุดที่ 2 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา บริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน จัดโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นำโดยนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง พร้อมคณะ ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เรื่อง “หยุดกักขังความคิด หยุดปิดปากประชาชน” โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า เสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็นถือเป็นองค์ประกอบหลักของการปกครองประชาธิปไตย ประชาชนสามารถตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเสรี แต่กฎหมายมาตรา 112 กลับมีเนื้อหาปิดกั้นและมีบทลงโทษรุนแรง ดังนั้น เนื่องในวันรัฐธรรมนูญและวันสิทธิมนุษยชนสากล จึงจำเป็นต้องเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 และให้ยุติการดำเนินคดี รวมถึงล้างมลทินและชดเชยเยียวยาผู้ที่เคยถูกดำเนินคดีจากมาตรา 112 ทั้งหมด เพื่อคืนความยุติธรรมแก่สังคม และเพื่อให้กระบวนการประชาธิปไตยของประเทศไทยสามารถเดินหาต่อไปได้ และลดความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคม
น.ส.ปนัสยา กล่าวถึงแนวทางการเคลื่อนไหวหลังจากนี้ว่า ในปีหน้าจะมีการยกระดับการชุมนุมอย่างแน่นอน ซึ่งในวันที่ 10 ธ.ค. อาจเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายของปีนี้ แต่หากกลุ่มอื่นมีการจัดกิจกรรมก็อาจไปสนับสนุนเป็นครั้งคราว
และจุดสุดท้าย หน้ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกลุ่มม็อบ 10 ธันวาคม เรียกร้องสิทธิเสรีภาพของคนพิการ ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้นำตู้คอนเทนเนอร์ ลวดหนามหีบเพลง มาวางปิดถนนเป็นแนวกั้นบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ด้านข้างยูเอ็น รวมถึงพื้นที่รอบบริเวณถนนราชดำเนิน ที่จะสามารถสัญจรเข้ามายังทำเนียบรัฐบาล สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และลานพระราชวังดุสิต โดยจุดที่มีการตั้งแนวแบริเออร์ เช่น ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ สะพานอรทัย สะพานชมัยมรุเชษฐ์ สะพานเทเวศรนฤมิตร ถนนสามเสน สะพานวิศกรรมนฤมาณ และถนนนครราชสีมา
เมื่อเวลา 14.00 น. มีเหตุตึงเครียดเกิดการเผชิญหน้าระหว่างตำรวจและการ์ดผู้ชุมนุม เมื่อมีกลุ่มชาวบ้านและผู้ค้าย่านตลาดเทเวศร์ไปร้องขอให้นายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ หัวหน้าการ์ดอาสากลุ่มวีโว่ มาทำการรื้อรั้วลวดหนามบริเวณตลาดเทเวศร์ออก เนื่องจากทำให้ค้าขายไม่ได้ ซึ่งนายโตโต้ นำกลุ่มการ์ดประมาณ 60 คน เดินเท้ามาเตรียมรื้อลวดหนามบริเวณสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ใกล้แยกเทเวศร์ เพื่อเปิดทางให้ชาวบ้านเดินไปมาได้ ส่งผลให้ตำรวจควบคุมฝูงชน 1 กองร้อย มาตรึงกำลัง ไม่อนุญาตให้กลุ่มการ์ดเข้ารื้อถอน
ขณะที่ชาวบ้านในย่านตลาดเทเวศร์ออกมาตะโกนเรียกร้องให้ตำรวจเปิดทางเดินให้ชาวบ้านได้ค้าขาย หลังถูกปิดตั้งแต่เที่ยงคืนที่ผ่านมา และไม่มีการแจ้งเตือนให้ชาวบ้านย่านนี้รับทราบมาก่อน ทำให้เดือดร้อนอย่างหนัก โดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำ โดยกลุ่มการ์ดวีโว่ได้นำกำลังมาประชิดแนวกั้นของตำรวจ พร้อมสวมถุงมือดันเจ้าหน้าที่เข้าไปรื้อรั้วลวดหนาม จนเกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างกลุ่มการ์ดและเจ้าหน้าที่ มีการล็อกคอตำรวจด้วย จากนั้นตำรวจได้เรียกเสริมกำลังอีก 1 กองร้อย พร้อมโล่ เดินหน้าแถวมาประชิดกลุ่มการ์ด เมื่อประเมินแล้วเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องปะทะ นายโตโต้จึงสั่งถอนกำลังกลับทันที
ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยว่า จุดที่ขอให้เปิดทางบริเวณแยกเทเวศร์ ซึ่งกลุ่มการ์ดอ้างว่าประชาชนในพื้นที่ รวมถึงพ่อค้าแม่ค้า ได้รับความเดือดร้อนนั้น จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่าไม่ใช่ชาวบ้านในพื้นที่ แต่เป็นประชาชนนอกพื้นที่ และกลุ่มการ์ดวีโว่เองเคยพยายามฝ่าเข้าไปในพื้นที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถเปิดทางให้ผ่านเข้าออกได้ ส่วนประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ทางเจ้าหน้าที่ได้จัดรถรับส่งไว้บริเวณถนนลูกหลวงซอย 14 ตัดถนนสามเสน ไว้บริการในช่วงที่เจ้าหน้าที่ปิดถนน
ส่วนบรรยากาศช่วงบ่าย บริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานได้ปิดกั้นพื้นที่บริเวณด้านหน้าอนุสรณ์สถาน เพื่อทำการเก็บหลักฐาน หลังเมื่อคืนที่ผ่านมามีกลุ่มผู้ไม่หวังดีขี่รถจักรยานยนต์ขว้างวัตถุคล้ายระเบิดไปป์บอมบ์เข้ามาในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว เบื้องต้นยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นระเบิดชนิดใด
ขณะที่กิจกรรมได้มีการจัดเสวนา มีนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการและผู้ลี้ภัยทางการเมือง ปาฐกถาพิเศษผ่านคลิปวิดีโอ หัวข้อ “ยกเลิก 112 สิแล้วเราจะเล่าให้ฟัง” ต่อด้วยการเสวนา “#ยกเลิกม.112” โดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำราษฎร และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำ 24 มิถุนาประชาธิปไตย โดยมีมวลชนปักหลักสังเกตการณ์อยู่ตลอดบนฟุตปาธถนนราชดำเนิน
นอกจากนี้กลุ่มราษฎรได้นำลอตเตอรี่ปลอมที่จัดทำขึ้นจำนวน 2,475 ใบ เพื่อเฉลิมฉลองวัน “รัฐธรรมนูญ” ซึ่งฉบับแรกออกมาเมื่อปี พ.ศ. 2475 และเพื่อแสดงถึงการผูกขาดในการรับผลประโยชน์ของรัฐบาล จากการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล มาแจกให้ผู้ชุมนุมคนละ 1 ใบ เป็นของที่ระลึกเท่านั้น ไม่สามารถแลกรางวัลใดๆ ได้ ท่ามกลางตำรวจ สน.ชนะสงคราม เดินดูแลความเรียบร้อยเป็นระยะ
ด้านการดูแลรักษาความปลอดภัยมีกลุ่มการ์ดอาสาและเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม คอยดูแลความสงบเรียบร้อยโดยรอบ ภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย นอกจากนี้ภายในงานยังมีมาตรการคัดกรองโควิด -19 ด้วยการติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิและฉีดแอลกอฮอล์ให้กับผู้ที่เข้ามาร่วมชุมนุม
ด้านการดูแลรักษาความปลอดภัยมีกลุ่มการ์ดอาสาและเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม คอยดูแลความสงบเรียบร้อยโดยรอบ ภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย นอกจากนี้ภายในงานยังมีมาตรการคัดกรองโควิด -19 ด้วยการติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิและฉีดแอลกอฮอล์ให้กับผู้ที่เข้ามาร่วมชุมนุม ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมไม่ได้มีการรุกล้ำลงไปบนพื้นผิวจราจรแต่อย่างใด ส่งผลให้สามารถสัญจรไปมาได้ตามปกติ เมื่อจัดกิจกรรมเสร็จสิ้น ล่าสุดแกนนำได้ประกาศยุติการชุมนุมแล้ว
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเรื่อง #Save112 เพราะคนไทยไม่เดือดร้อน ว่า 10 ธ.ค. แกนนำม็อบจะไปยื่นข้อเรียกร้องต่อสหประชาชาติ เพื่อกดดันรัฐบาลให้เลิกมาตรา 112 และให้ยุติการดำเนินคดีคณะราษฎรทุกคน แกนนำม็อบรู้ไหมว่ากฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” ไม่ใช่เป็นกฎหมายที่อยากจะรังแกใครก็ได้
คำถามถึงแกนนำม็อบว่าพวกท่านคิดว่าการหมิ่นประมาท การดูหมิ่น การแสดงความอาฆาตมาดร้าย เป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือ ถ้าไม่คิดกระทำสิ่งเหล่านี้แล้ว ทำไมต้องกลัว อย่าว่าแต่สถาบัน ถ้ามีคนไปหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพ่อแม่ของเหล่าแกนนำ พวกท่านจะคิดอย่างไร และสิ่งที่ต้องถามแกนนำม็อบ ถ้าจะขอยกเลิกมาตรา 112 ทำไมไม่ขอยกเลิกมาตรา 133 และมาตรา 134 ด้วย หรือจะให้คุ้มครองเฉพาะประมุขรัฐ และผู้แทนประมุขรัฐต่างประเทศ แต่ไม่ต้องคุ้มครององค์ประมุขรัฐของไทย .-สำนักข่าวไทย