24 พ.ย. – ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความประกาศเขตอุทยานทับลานทับที่ทำกินชาวบ้าน ละเมิดสิทธิเสรีภาพขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติยื่นคำร้องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัยว่าการประกาศกำหนดเขตอุทยานแห่งชาติทับลานปี 2524 ทับซ้อนที่อยู่อาศัยและทำกินของประชาชนในพื้นที่รอบเขตอุทยาน เป็นการละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 25 มาตรา 27 มาตรา 37 มาตรา 38 มาตรา 40 และมาตรา 43 (2) หรือไม่
กรณีดังกล่าวเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา 5 ตัวแทนชาวบ้านใน 4 อำเภอ จ.นครราชสีมา คือ อ. ปักธงชัย อ.วังน้ำเขียว อ.เสิงสาง อ.ครบุรี ได้ยื่นคำร้องดังกล่าวต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้ลงพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริงและรับฟังปัญหาของผู้ได้รับผลกระทบ พบว่าที่อยู่อาศัยและทำกินบริเวณรอบ ๆ แนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นพื้นที่ทับซ้อนและพิพาทกับอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้อาศัยความไม่ชัดเจนของแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ทำการละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียนรวมถึงประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ทับซ้อนมาโดยตลอด โดยอ้างว่าพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินดังกล่าวเป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติทับลานที่อยู่ภายใต้กฎหมายอุทยาน จึงมีการหยิบยกกฎหมายอุทยานขึ้นมากล่าวอ้างเพื่อสกัดกั้นการใช้สอยพื้นที่ดังกล่าวในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ห้ามมีสิ่งปลูกสร้างถาวร ห้ามสร้างถนนหนทาง ห้ามก่อสร้าง การขอใช้น้ำใช้ไฟฟ้าเป็นไปด้วยความยุ่งยาก รวมถึงจับกุมประชาชนที่ฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว ทั้งที่กลุ่มประชาชนได้อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ดังกล่าวมาแต่เดิมตั้งแต่ปี พ.ศ.2457 ก่อนที่จะมีการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับลานในปี พ.ศ.2524 บางพื้นที่รัฐได้อพยพราษฎรเหล่านี้หลบหนีภัยจากการสู้รบกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ลงมาอยู่ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม และจัดสรรพื้นที่ทำกินให้อยู่อาศัยกันมากว่า 40 ปี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2533-2543 มีการสำรวจรังวัดปรับปรุงแนวเขตและปักหลักเขตจนเป็นที่รับรู้ทั่วกันของราษฎร แต่การแก้ไขพระราชกฤษฎีกาปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานไม่แล้วเสร็จ จึงทำให้พระราชกฤษฎีกาฯ พ.ศ.2524 บังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน ทำให้มีราษฎรถูกจับกุมดำเนินคดีเป็นการสร้างปัญหาความเดือดร้อน หวาดระแวงต่อการถูกจับกุม ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงในการประกอบอาชีพ ถูกภาครัฐทอดทิ้งไม่ให้ความช่วยเหลือเช่นเดียวกับที่ให้แก่เกษตรกรทั่วไป และก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับราษฎรในพื้นที่เรื่อยมา
แม้ผู้ร้องเรียนและประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวจะมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ค. 1, น.ส. 3, น.ส. 3ก. และโฉนดที่ดิน (น.ส.4จ.) ก่อนที่จะมีการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติทับลานในปี พ.ศ.2524 ก็ไม่สามารถนำเอกสารสิทธิดังกล่าวไปทำนิติกรรมใด ๆ ได้ เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่รับจดทะเบียนทางนิติกรรมให้ ถึงปัจจุบันจะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และบทเฉพาะกาลมาตรา 64 จะกำหนดให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน คือภายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 นับแต่วันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับ และกำหนดให้รัฐบาลมีแผนงาน นโยบายในการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยทำกินในอุทยานแห่งชาติที่มีการประกาศกำหนดมาก่อนวันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับ โดยให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ โดยมีสิทธิในที่ดินนั้น เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาสำหรับประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินในอุทยานแห่งชาติกรณีการบุกรุกเท่านั้น แต่บทบทบัญญัติดังกล่าวมิได้แก้ไขปัญหาสำหรับประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินมาก่อนการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ของรัฐกลับอ้างบทบัญญัติดังกล่าวทำการสำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยถือว่าประชาชนดังกล่าวบุกรุกอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียนและประชาชนโดยตรง และได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องจากการกระทำของหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 25 มาตรา 27 มาตรา 37 มาตรา 38 มาตรา 40 และมาตรา 43 (2) ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงมีมติยื่นเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย. – สำนักข่าวไทย