มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 13 พ.ย. – สมชัย ชี้ ร่างฯประชามติของรัฐบาลที่เสนอสภาสะท้อนความไม่จริงใจ ไม่ทันการณ์ ไม่ทันสมัย ไม่เข้าใจหลักการการทำประชามติ และไม่เห็นหัวประชาชน เผยรับฟังความเห็นแบบไม่เปิดกว้าง
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวในการเสวนาสาธารณะ “จับตาประชามติ แก้ไขรัฐธรรมนูญ” ว่าร่าง พ.ร.บ.ประชามติที่รัฐบาลเสนอสภา มีการรับฟังความคิดเห็นช่วงระหว่าง 19 ตุลาคม ถึง 2 พฤศจิกายน ที่จัดทำโดย กกต. และรายงานการรับฟังความคิดเห็นที่ส่งให้สภา พร้อมร่างฯ พ.ร.บ.ประชามติมีจำนวน 33 หน้า ทุกหน้าเขียนว่าไม่มีความเห็น เนื่องจากการไปแสดงความคิดเห็นต้องทำเป็นจดหมายและอีเมล์
นายสมชัย มองว่า รัฐบาลไม่ใส่ใจในการออกกฏหมายประชามติ เพราะดูได้จากการดำเนินการล่าช้ามา 3 ปี 6 เดือน 28 วัน หลังรัฐธรรมนูญออกมาใช้ 6 เมษายน 2560 แต่คณะรัฐมนตรีมีมติร่างกฎหมายประชามติ 8 กันยายน 2563 และ กกต.รับฟังความคิดเห็น 19 ตุลาคม ถึง 2 พฤศจิกายน นายกรัฐมนตรีลงนามส่งร่างฯ ให้สภา 4 พฤศจิกายน ซึ่งการที่นายชวน หลักภัย ประธานรัฐสภา มีมติว่าร่างกฎหมายประชามติ เป็นกฎหมายปฏิรูป ข้อดีก็คือ จะทำให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ที่จะมีการพิจารณาร่วมของทั้งสองสภา แต่การที่มีสมาชิกวุฒิสภาที่ไว้ใจไม่ได้ก็อาจจะกลายเป็นข้อเสียใหม่
นายสมชัย กล่าวว่าเมื่อดูจากร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่เสนอสภาจะพบว่า การทำประชามติจะทำได้ 2 เงื่อนไข คือ ทำตามมาตรา 256 และมาตรา 166 คือ ครม.ต้องการทำประชามติ ซึ่งจะพบว่าร่างฯ ที่เสนอเป็นการออกกฎหมาย ที่ไม่ทันการณ์ คือ หากจะทำประชามติแบบเร็วๆ ไม่สามารถทำได้ มีการกำหนดระยะเวลาว่าต้องไม่เร็วกว่า 90 วัน และไม่ช้ากว่า 120 วัน และยังพบว่าไม่ทันสมัย เหตุ มาตรา 33 ระบุให้ใช้หีบและบัตรออกเสียง มาตรา 34 ระบุการลงคะแนน ทำเครื่องหมายกากบาท เมื่อเทียบกับกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.กำหนดให้ใช้วิธีการอื่น สะท้อนเห็นถึงความไม่ทันสมัย ที่ในอนาคตอาจมีวิธีการอื่นเช่น การลงคะแนนทางโทรศัพท์มือถือ
นายสมชัย ยังกล่าวว่านอกจากนี้ยังพบว่า เขียนโดยไม่เข้าใจปรัชญาการทำประชามติ คือสามารถทำประชามติได้ในระดับชาติ ทั่วประเทศ และระดับพื้นที่ รวมทั้งไม่เห็นหัวประชาชน เพราะกำหนดการลงคะแนนล่วงหน้าได้เฉพาะนอกเขต จะลงคะแนนล่วงหน้าในเขตได้เฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องไปปฏิบัติหน้าที่ แทนที่จะเปิดให้ประชาชนลงคะแนนได้โดยง่าย เอาความสะดวกของเจ้าหน้าที่เป็นหลัก ทั้งที่การจัดการทำประชามติง่ายกว่าการเลือกตั้ง ส.ส.มากมาย และไม่มีการลงคะแนนนอกราชอาณาจักร ออกแบบมาจำกัดสิทธิประชาชน เน้นสะดวกเจ้าหน้าที.-สำนักข่าวไทย