รัฐสภา 12 พ.ย.-กมธ.ตำรวจฯ เผยเจ้าหน้าที่ตัดสินใจสลายชุมนุมปทุมวัน อ้างเหตุการ์ดปะทะเจ้าหน้าที่ก่อน หวั่นควบคุมไม่ได้ จึงต้องใช้แก๊สน้ำตา
คณะกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฏร แถลงผลการเชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจมาชี้แจงถึงมาตรการและแนวปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อควบคุมการชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บังคับบัญชาตำรวจนครบาล พล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 เข้าร่วมชี้แจง
ทั้งนี้ นายสัญญา นิลสุพรรณ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะรองประธานกรรมาธิการตำรวจฯ กล่าวว่า ตำรวจที่มาชี้แจง ยอมรับว่ามีการใช้แก๊สน้ำตาผสมน้ำสลายการชุมนุมจริง แต่อยู่ในระดับที่เจือจาง เพียง 3% ซึ่งเป็นไปตามมาตรการควบคุมการชุมนุม ไม่เป็นอันตราย ส่วนน้ำสีฟ้า ไม่เป็นอันตรายเช่นกัน คล้ายกับสีที่ผสมในลิปสติก เป็นการใช้ระบุตัวบุคคลเท่านั้น
นายสัญญา กล่าวด้วยว่า โดยตำรวจให้สาเหตุว่าที่ต้องสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่แยกปทุมวัน เพราะเริ่มมีการใช้ความรุนแรงก่อนที่จะมีการสลายการชุมนุม ซึ่งการ์ดของผู้ชุมนุมได้ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนมีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ จึงเกรงว่าจะควบคุมสถานการณ์ชุมนุมไม่ได้ จึงตัดสินใจใช้มาตรการสลายการชุมนุมด้วยการฉีดน้ำแรงดันสูง โดยเริ่มจากน้ำเปล่าก่อน จนไปถึงน้ำที่ผสมแก๊สน้ำตา
นายสัญญา กล่าวอีกว่า สำหรับเหตุการณ์ที่หน้าศาลฎีกา เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ผู้ชุมนุมเริ่มมีการตัดรั้วลวดหนาม เจ้าหน้าที่จึงเกรงว่าจะเกิดเหตุที่ควบคุมไม่ได้ และเข้าไปประชิดเขตสำนักพระราชวัง จึงตัดสินใจฉีดน้ำแรงดันสูงใส่ผู้ชุมนุม แต่เป็นการฉีดแนววิถีโค้งเพื่อป้องปรามผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการฯ ยังไม่ปักใจเชื่อ 100% จากคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงจะลงไปดูในรายละเอียดอีกครั้ง เบื้องต้นได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและใช้มาตรการต่าง ๆ อย่างละมุนละม่อม และขอให้เจ้าหน้าที่ดูแลเป็นพิเศษในเรื่องการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ชุมนุมสองฝ่ายที่เห็นต่างกัน
ด้านนายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ โฆษกกรรมาธิการตำรวจฯ กล่าวว่า ที่ประชุมกรรมาธิการฯ มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการควบคุมสถานการณ์ชุมนุมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 3 ข้อ คือ กรณีการชุมนุมที่มีบุคคลเห็นต่างกับผู้ชุมนุมเข้าไปอยู่ในพื้นที่ ทางตำรวจควรมีแนวทางในการระงับเหตุเพื่อไม่ให้เหตุการณ์มีการใช้ความรุนแรง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติควรมีการสาธิตหรือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ประชาชนได้รับทราบ และควรใช้วิธีการละมุนละม่อมต่อผู้ชุมนุมเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงเพิ่มมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย