ทำเนียบฯ 4 พ.ย.-“วิษณุ” เผยส่งร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติแก้ รธน.ไปสภาฯ แล้ว มีโอกาสสูงไม่ทันให้ประชาชนลงมติพร้อมเลือกตั้ง อบจ. เหตุต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูล ชี้หากมีคำถามพ่วงต้องให้คณะกรรมการคนกลางเป็นคนตั้งคำถาม
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลงนามร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างแก้รัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว และได้ส่งร่างดังกล่าวไปยังสภาฯ แต่ยังไม่ทราบว่าจะนำมาพิจารณาเมื่อใด เนื่องจากอยู่ในอำนาจของประธานรัฐสภา โดยจะต้องมีการประชุมหารือร่วมทั้ง 2 สภาฯ แต่กฎหมายดังกล่าวสามารถพิจารณาร่วมกับการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นจะมีคำถามเดียว คือเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ส่วนหากจะมีคำถามพ่วง ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 166 ที่แม้จะให้อำนาจคณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอคำถาม แต่ตนเห็นว่าไม่น่าจะเหมาะสม หากจะต้องถามในเรื่องที่ละเอียดอ่อนและรัฐบาลมีส่วนได้เสีย ดังนั้นจึงควรมีคณะกรรมการที่เป็นคนกลางทำหน้าที่เสนอคำถามจะเหมาะสมกว่า ซึ่งอาจจะเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ ที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นผู้เสนอตั้งขึ้น เนื่องจากคณะกรรมการชุดดังกล่าวมีผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ และเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับ เป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี และตนไม่ทราบว่าคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะมีตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าร่วมหรือไม่ รวมถึงตัวแทนจากรัฐบาล เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีการติดต่อทาบทามมาแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากที่ประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์มีมติอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา รัฐบาลต้องปฏิบัติตามหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า จะต้องพิจารณาว่ารัฐบาลสามารถปฏิบัติได้มากน้อยเพียงใด ทั้งข้อกังวล ข้อเป็นห่วง หรือข้อเสนอแนะ เพราะบางเรื่องอาจเป็นข้อกังวลหรือข้อเสนอแนะที่รัฐบาลสามารถนำไปปฏิบัติเพียงบางข้อได้ เนื่องจากเป็นการเสนอทางออกของผู้ที่มีประสบการณ์ แต่ไม่จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องนำไปใช้ทั้งหมด
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่การทำประชามติขอความเห็นแก้หรือไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่สามารถดำเนินการได้ทันกับการจัดการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เนื่องจากเหลือเวลาไม่มาก เพียง 50 วัน ซึ่งหากจะมีการลงความเห็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องมีกรอบระยะเวลาให้ประชาชนได้ศึกษาข้อมูล รวมถึงเปิดเวทีสาธารณะ ซึ่งต้องใช้เวลา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยกับการทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีการหยิบยกมาว่าไม่มีเวลาในการศึกษารัฐธรรมนูญ.-สำนักข่าวไทย