รัฐสภา 4 ต.ค.-“รังสิมันต์ โรม” ถามกระทู้จี้หาคนอยู่เบื้องหลังสั่งสลายการชุมนุม ไม่เชื่อน.1สั่งคนเดียว ระบุเจ้าหน้าที่ปฏิบัติ 2 มาตรฐาน ด้านรมช.กลาโหม ยืนยันทำตามกฎหมาย ขั้นตอนหลักสากล ปฏิบัติกับทุกกลุ่มเท่าเทียม
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันนี้(4 พ.ย.) มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานการประชุม ได้พิจารณากระทู้ถามสดของนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เรื่องการสลายการชุมนุม โดยนายรังสิมันต์กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมามีการสลายการชุมนุมและใช้กำลังจับกุมผู้ชุมนุมถึง 3 ครั้งเริ่มตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 13 ตุลาคม เช้ามืดวันที่ 15 ตุลาคม และหัวค่ำวันที่ 16 ตุลาคม
“การชุมนุมทั้ง 3 ครั้งไม่ปรากฏพฤติการณ์การประทุษร้ายต่อชีวิตหรือร่างกายของบุคคลอื่น หรือทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชนอย่างร้ายแรง เป็นการชุมนุมที่มีเวลากำหนดสิ้นสุด ถือเป็นการชุมนุมที่สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ ไม่ควรมีเหตุให้สลายการชุมนุม นอกจากนี้ยังมีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมด้วยข้อหาผิดมาตรา 116 ของรัฐธรรมนูญยุยงปลุกปั่น จึงอยากทราบว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดในการตัดสินใจสลายการชุมนุม ปรากฏข้อเท็จจริงอะไรที่ทำให้เข้าสู่หลักเกณฑ์การสลายการชุมนุม จะรับผิดชอบอย่างไร และเหตุใดดำเนินคดีในข้อหาซ้ำ ๆ ในมาตรา 116” นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ ตั้งข้อสังเกตว่าหลังการเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ฉีดน้ำทันที จึงอยากถามว่าใครเป็นคนตัดสินใจสลายการชุมนุม เพราะไม่เชื่อว่าผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นคนสั่งเพียงคนเดียว น่าจะเป็นผู้ที่มีอำนาจมากกว่านั้น ต้องยอมรับว่าการชุมนุมมีหลายกลุ่มทั้งกลุ่มเสื้อเหลืองและกลุ่มราษฎร โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองมีการเกณฑ์คนให้มาชุมนุมกันและได้รับความสะดวกเป็นอย่างดีจากภาครัฐ มีการเชิญชวนจากผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ไม่สลายการชุมนุม ซึ่งการสลายการชุมนุมต้องขออนุญาตจากศาลก่อน แต่ปรากฏว่าไม่มีคำสั่งจากศาล
ด้านพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ตอบกระทู้แทน ชี้แจงว่า รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีมีความ ห่วงใยการชุมนุมในช่วงที่ผ่านมา จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล โดยเน้นย้ำให้อดทนชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุม ให้ทราบถึงขอบเขตสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกฎหมายต่าง ๆ แต่กรณีที่เข้าข่ายการกระทำผิดก็ต้องดำเนินคดี ไม่เช่นนั้นเจ้าหน้าที่จะถูกดำเนินคดีฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
“รัฐบาลตระหนักดีว่าสิทธิเสรีภาพการชุมนุมและแสดงความเห็นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน การจัดกิจกรรมเป็นสิทธิที่ดำเนินการได้ภายใต้กรอบกฎหมาย โดยเฉพาะพฤติกรรมที่มีลักษณะก้าวร้าว จะเป็นการสร้างเงื่อนไขและชนวนความขัดแย้งในสังคม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 วรรคหนึ่งกำหนดว่าบุคคลย่อมชุมนุมโดยเสรีภาพ โดยปราศจากอาวุธ แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ซึ่งการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะและการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าว
พล.อ.ชัยชาญ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่และรัฐบาลทราบดีว่าผู้ร่วมชุมนุมมาด้วยความเห็นต่าง แต่ก็ดำเนินการตามขอบเขตของกฎหมาย ใช้การเจรจาละมุนละม่อม การตัดสินใจดำเนินการเข้าขอคืนพื้นที่ในช่วงเช้าวันที่ 13 เนื่องจากว่าช่วงเย็นมีหมายกำหนดการเสด็จ และได้พยายามเจรจาว่าขอให้ขึ้นไปบนฟุตบาท เพื่อให้ขบวนเสด็จมีความปลอดภัยและสมพระเกียรติมากที่สุด ซึ่งการเจรจาทุกขั้นตอน เจ้าหน้าที่ใช้ความอดทนอดกลั้น แต่ผู้ชุมนุมสาดสีและเจ้าหน้าที่ไม่ได้ตอบโต้ แต่เข้าจับกุมตามวิธีการ ตามกฎหมาย ขณะที่วันที่ 14 มีทั้งเส้นทางหลักและเส้นทางรองจะต้องผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม ทางเจ้าหน้าที่พิจารณาแล้วเห็นว่าเส้นทางที่ใช้แล้วมีความเหมาะสมมากที่สุด ถ้าปรับก็จะต้องวางกำลังใหม่ ทำให้ไม่เรียบร้อยมากขึ้น
“การกำหนดเส้นทางเสด็จนั้น ทุกหน่วยงานได้วางแผนอย่างละเอียดรอบคอบ ส่วนวันที่ 15 ที่ประกาศขอคืนพื้นที่ เนื่องจากเป็นการประกาศในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีการมาชุมนุม เจ้าหน้าที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย และขั้นตอนการปฏิบัติอยู่ในหลักสากล โดยใช้การเจรจา ชี้แจงก่อนล่วงหน้า การเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่พยาบาล ซึ่งทุกขั้นตอนของการดำเนินการ เครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการดูแลผู้ชุมนุม เป็นไปตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะทุกประการ การตัดสินใจอยู่ที่ผู้รับผิดชอบเหตุการณ์ในขณะนั้นจะตัดสินใจ เพื่อให้สถานการณ์สงบเรียบร้อยที่สุด ตามขอบเขตของกฎหมาย” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าว
พล.อ.ชัยชาญ กล่าวว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้มอบให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบวิเคราะห์สถานการณ์ขอพื้นที่ และดูแลสถานการณ์ไม่ให้ลุกลามบานปลาย และกรณีผู้ชุมนุมล้อมรถยนต์พระที่นั่ง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกินกว่าที่ประชาชนทั่วไปจะรับได้ ส่วนที่กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มปกป้องสถาบัน ขอเรียนว่าเป็นความรู้สึกของประชาชนที่ออกมาปกป้องสถาบันที่คนไทยทุกคนเคารพและเทิดทูน และที่อำนวยความสะดวกประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จ เพราะถือว่ามาร่วมงานพระราชพิธี ไม่ได้เข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ การดูแลในส่วนดังกล่าวเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการชุมนุมที่ผ่านมาบางกลุ่มก็แจ้งการชุมนุม บางกลุ่มไม่ได้แจ้ง เจ้าหน้าที่ก็ดูแลตามอำนาจของกฎหมาย ยืนยันดำเนินการทุกอย่างอย่างเท่าเทียมกัน
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการดำเนินคดีเหตุปะทะกันในมหาวิทยาลัยรามคําแหง ว่า มีผู้มาร้องทุกข์ 5 รายและดำเนินการแล้ว มีผู้ต้องสงสัย 10 คนที่เกี่ยวข้องกับการทำร้ายร่างกายพนักงานสอบสวนและได้เรียกมาสอบปากคำแล้ว พบการกระทำผิดชัดเจน 1 ราย ออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการเปรียบเทียบพยานหลักฐาน ซึ่งยืนยันว่าตำรวจไม่ได้เลือกปฏิบัติ แต่เร่งรัดดำเนินการ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใช้เวลา 9 วันออกหมายเรียก ยืนยันเจ้าหน้าที่ดำเนินการกับทุกกลุ่มที่ทำผิดกฎหมาย
“สำหรับการจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนจากต่างจังหวัดเข้ามาดูแลสถานการณ์ ขอเรียนว่าเจ้าหน้าที่กำหนดแผนการปฏิบัติและกำหนดความต้องการกำลังในแต่ละแผนการปฏิบัติว่าจะใช้จำนวนเท่าใด ซึ่งการต้องเตรียมกำลังจากต่างจังหวัด เนื่องจากกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ควบคุมฝูงชนไม่พอเพียง จึงต้องสลับหมุนเวียนกำลัง ยืนยันว่าดูแลกำลังพลที่ปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มที่ และกรณีที่มีข่าวหักหัวคิว ได้ตรวจสอบขั้นตอนการเบิกจ่ายงบประมาณ และย้ำนโยบายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดูแลเจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อให้มีขวัญและกำลังใจทำงานได้ดีที่สุด” พล.อ.ชัยชาญ กล่าว
ภายหลังฟังการชี้แจง นายรังสิมันต์ กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังในคำตอบ เพราะอยากจะทราบว่าใครเป็นผู้สั่งการสลายการชุมนุม และเห็นว่ากรณีสลายการชุมนุมวันที่ 13 ตุลาคมกับสถานการณ์การการชุมนุมปิดล้อมรถขบวนเสด็จวันที่ 14 และยังมีกรณีกินหัวคิวเบี้ยเลี้ยงตำรวจอีก จึงอยากทราบว่านำตำรวจจากต่างจังหวัดเข้ามาควบคุมฝูงชนในกรุงเทพฯ จำนวนเท่าใด 14,000 นายหรือไม่ มากี่วัน เหตุใดจึงใช้ตำรวจจากต่างจังหวัด ใช้งบประมาณมื้อละเท่าไหร่ นอนที่ไหน.-สำนักข่าวไทย