กกต. 4 พ.ย.- “แสวง” ย้ำข้าราชการการเมือง ส.ส. – ส.ว. และเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ช่วยหาเสียง ผิดมาตรา 34 เอาผิดอาญาได้ ซ้ำอาจเจอผิดวินัย-วางตัวไม่เป็นกลาง
นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. กล่าวในระหว่างร่วมพบปะสื่อมวลชน ในกิจกรรมประชุมชี้แจงการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ว่าการเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้ มีผู้สมัครค่อยข้างคึกคัก เนื่องจากว่างเว้นจาการเลือกตั้งมาถึง 8 ปี และเป็นการเลือกตั้งตามกฎหมายใหม่ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจัดการเลือกตั้ง และกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น หากไม่มีการร้องเรียน กกต.ก็จะประกาศผล ภายใน 30 วัน แต่ถ้ามีเรื่องร้องเรียนก็จะประกาศ ภายใน 60 วัน โดยไม่ตัดสิทธิ กกต.ในการพิจารณาเรื่องทุจริตที่มีอยู่
นายแสวง กล่าวว่า ส่วนการหาเสียง กกต.มีมติห้ามข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. และเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ไม่สามารถหาเสียงเลือกตั้งช่วยผู้สมัครได้ ถ้ามีผู้ฝ่าฝืน แม้กฎหมายจะกำหนดให้ ผอ.กกต.เพียงสั่งระงับการกระทำนั้น แต่ในเชิงผลของคดีอาญา กกต.สามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญในการดำเนินการสืบสวนไต่สวน เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ในทางคดีอาญา บทบัญญัติของมาตรา 34 กฎหมายท้องถิ่น ถูกเขียนไว้ในระเบียบการหาเสียงท้องถิ่น ข้อ 18 ที่ออกตามมาตรา 66 ผู้ฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษตามมาตรา 129 คือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน
นายเสวง กล่าวว่า ตำแหน่งของเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ กกต.จะยึดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วางบรรทัดฐานไว้ว่า 1.ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย 2.มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือปฎิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และปฎิบัติงานประจำ 3.อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ 4.มีเงินเดือนค่าจ้าง ค่าตอบแทนตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบครับทั้ง 4 ข้อ หากมีไม่ครบจะไม่ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ซึ่ง ผู้ช่วย ส.ส.เข้าองค์ประกอบทั้งหมด จึงไม่สามารถที่จะไปช่วงหาเสียงหรือลงสมัครได้
นายแสวง กล่าวว่า สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากใช้เวลาราชการไปช่วยหาเสียง จะผิดฐานละทิ้ง หรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ หรือมีความผิดฐานไม่เป็นกลาง ตามมติ ครม. ซึ่งทั้ง 2 อย่างจะถือเป็นความผิดทางวินัย แต่ถ้าเป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปช่วย ก็จะผิดมาตรา 69 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น
“เช่นนายอำเภอมีน้องชายลงสมัครรับเลือกตั้ง นายอำเภอเรียกประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แล้วบอกให้เลือกน้องชาย อย่างนี้ถือเป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่ เพราะเป็นคนที่มีอำนาจเรียกประชุม แต่ถ้านายอำเภอไปกินก๋วยเตี๋ยว เจอชาวบ้าน แล้วบอกให้ไปเลือกน้องชาย อย่างนี้ถือว่าวางตัวไม่เป็นกลาง ผู้สมัครเคยสมัครกันมาหลายครั้ง คงจะเข้าใจเรื่องเหล่านี้พอสมควร แต่เมื่อกฎหมายมีการเปลี่ยนแปลง ก็ควรศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และปฎิบัติให้ถูกต้อง” นายแสวง กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายแสวง กล่าวว่า สำหรับพรรคการเมือง กฎหมายไม่ได้ห้ามที่จะสนับสนุน หรือส่งผู้สมัคร โดยมาตรา 87 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง กำหนดให้พรรคสามารถใช้จ่าย เพื่อการหาเสียงเลือกตั้งของสมาชิกพรรคได้ หากพรรคส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งท้องถิ่น รวมทั้ง ผู้สมัครสามารถใช้โลโก้พรรคหาเสียงได้ ส่วนผู้สมัครบางคนที่เคยเป็นอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรี สามารถนำตำแหน่งดังกล่าวไปหาเสียงได้
นายแสวง กล่าวว่า ขณะที่ ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง จะต้องได้คะแนนโหวตสูงสุด และต้องได้มากกว่าคะแนนของผู้ไม่ประสงค์เลือกผู้สมัครใด หากได้คะแนนน้อยกว่า ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ ในกรณีมีผู้สมัครน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่นพึงมี ผู้ชนะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด
นายแสวง กล่าวว่า ส่วนเรื่องของการให้ทรัพย์สิน หรือเงินซองงานบุญต่างๆ กกต.ยึดหลักเพื่อการปฎิรูปทางการเมืองมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ว่า ไม่ว่าจะให้กี่บาทแก่ตัวคน มูลนิธิ วัด หรือ ให้ตามประเพณีปกตินิยม ถือว่ามีความผิด และส่งศาลดำเนินคดีทุกราย และยังคงยึดมาตรฐานนี้ ไม่ว่าศาลจะพิจารณาอย่างไรก็ตาม .- สำนักข่าวไทย