ทำเนียบฯ 4 พ.ย.- บีโอไอ เผย ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ รวม 1,098 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 223,720 ล้านบาท อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เกษตรแปรรูป ยานยนต์และการแพทย์ เป็นสาขานำ
น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แถลงผลการประชุมบีโอไอที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ภาวะการส่งเสริมการลงทุนช่วง 9 เดือนของปี 2563 (มกราคม-กันยายน) มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งสิ้น 1,098 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 1,088 โครงการ โดยมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 223,720 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 15 ที่มีมูลค่ารวม 262,470 ล้านบาท
สำหรับยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนส่วนใหญ่ ร้อยละ 58 ของมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมอยู่ในอุดสาหกรรมเป้าหมาย มีจำนวน 556 โครงการ โดยอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 37,550 ล้านบาท ตามด้วยอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร อุตสหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมการแพทย์
เลขาฯ บีโอไอ กล่าวว่า คำขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการแพทย์ยังคงมีจำนวนโครงการและมูลค่าขอรับส่งสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยมีจำนวน 65 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 132 มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 14,710 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 75 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
“การแพร่ระบาดของโควิด -19 แม้จะส่งผลกระต่อการลงทุนโดยรวม แต่ในบางอุตสาหกรรมมียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์ ตอกย้ำศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาค” น.ส.ดวงใจ กล่าว
เลขาฯ บีโอไอ กล่าวว่า ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 9 เดือน มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 657 โครงการ โดยมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 118,504 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่น มีการลงทุนสูงสุดเป็นอันดับ 1 จำนวน 139 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 37,545 ล้านบาท ตามด้วยจีน และเนเธอร์แลนด์ ส่วนคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี มีจำนวน 313 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 109,430 ล้านบาท แบ่งป็นจังหวัดชลบุรี 165 โครงการ จังหวัดระยอง 112 โครงการ และจังหวัดฉะเชิงเทรา 36 โครงการ
น.ส.ดวงใจ กล่าวว่า การขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการพิเศษ ได้แก่ มาตรการส่งเสริม SMEs ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 54 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 เงินลงทุน 2,240 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15 และมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 138 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เงินลงทุน 15,190 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 แสดงให้เห็นว่าภายใต้สถานการณ์วิกฤต ยังคงมีการลงทุนในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อเตรียมองค์กรให้พร้อมรับกับการฟื้นตัวในอนาคตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน.-สำนักข่าวไทย