สถาบันพระปกเกล้า 30 ต.ค.- พระปกเกล้า หารือรูปแบบคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เร่งรวบรวมรูปแบบปรองดองในอดีตทั้งไทยและต่างประเทศ ก่อนส่งประธานรัฐสภาสรุป “วุฒิสาร” ยอมรับกดดันที่จะทำทุกฝ่ายเชื่อมั่น ยืนยันไม่ได้ซื้อเวลา ย้ำยังไม่ถึงขั้นทาบทามหรือสรรหาตัวบุคคล
นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือร่วมกับนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิของสถาบันพระปกเกล้า เพื่อออกแบบโครงสร้างและรูปแบบวิธีการทำงานของคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาว่า สถาบันพระปกเกล้าในฐานะเป็นหน่วยงานกำกับของประธานรัฐสภา มีหน้าที่หาคำตอบให้กับสภาเท่านั้น ไม่ได้เป็นฝ่ายดำเนินการเองทั้งหมด ขณะนี้อยู่ระหว่างคิดค้นโครงสร้างที่เหมาะสม โดยเฉพาะโครงสร้างกรรมการปรองดองในอดีตและข้อเสนอที่เกิดขึ้นจากการอภิปรายหาทางออกร่วมกันของรัฐสภา เมื่อวันที่ 26 – 27 ตุลาคม ที่ผ่านมาว่ามีอะไรบ้าง ก่อนจะรวบรวมเสนอต่อประธานรัฐสภา อย่างเร็วสุดในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้ โดยจะเสนอให้เห็นว่าโครงสร้างแต่ละโครงสร้างมีข้อดีข้อเสีย และข้อจำกัดอย่างไรบ้าง รวมถึงข้อห่วงใยของสถาบันพระปกเกล้า แต่ยอมรับว่าเงื่อนไขการตั้งคณะกรรมการปรองดองครั้งนี้ ยังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการไปถึงจุดไหนอย่างไร อะไรที่เป็นเนื้อหาที่ต้องเอามาพูดคุยบ้าง
“สถาบันฯ ออกแบบได้เพียง โครงสร้างและวิธีการทำงานในเชิงหลักการวิชาการเท่านั้น รวมถึงรวบรวมประสบการณ์จากต่างประเทศมานำเสนอด้วย ส่วนโครงสร้างกรรมการชุดนี้จะมีองค์ประกอบใดบ้าง เป็นเรื่องที่ประธานรัฐสภาต้องกลับไปหารือผู้เกี่ยวข้อง สถาบันพระปกเกล้ามีหน้าที่เสนอทางเลือกต่าง ๆ ให้เท่านั้น” นายวุฒิสาร กล่าว
นายวุฒิสาร ยังกล่าวถึงการนำรูปแบบการตั้งคณะกรรมการปรองดองในอดีตมารวบรวมเป็นข้อเสนอ ว่าที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการลักษณะนี้แล้วหลายครั้ง เช่น คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชุดที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน หรือคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ซึ่งจะทำให้เห็นได้ว่าการทำงานของแต่ละคณะ มีบรรยากาศและสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกัน เพื่อให้เห็นเงื่อนไขในแต่ละด้าน
ส่วนที่นายชวน เสนอให้มีทุกฝ่ายเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการปองดองฯ นั้น นายวุฒิสาร กล่าวว่า โดยหลักการแล้วสถานการณ์ตอนนี้สิ่งสำคัญคือต้องมีพื้นที่ให้แต่ละฝ่ายได้รับฟังกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ขอให้ฟังการชี้แจงของนายชวน ยืนยันว่าการรวบรวมทางออกครั้งนี้ ไม่ได้รวบรวมจากงานของสถาบันพระปกเกล้าเท่านั้น แต่รวมถึงประสบการณ์ที่เป็นประวัติศาสตร์ที่แต่ละรัฐบาลมีมาประกอบด้วย
เมื่อถามว่าการออกแบบโครงสร้างครั้งนี้ จะต้องมีการหารือร่วมกับคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และฝ่ายต่างๆ ด้วยหรือไม่ นายวุฒิสาร กล่าวว่า ไม่ถึงขนาดนั้น เพราะสถาบันพระปกเกล้ามีหน้าที่เสนอรายงานต่อประธานรัฐสภาเท่านั้น ส่วนประธานรัฐสภาจะนำไปพิจารณาดำเนินอย่างไรต่อ เป็นหน้าที่ของประธานรัฐสภา
เมื่อถามว่าจะมีการคาดการณ์ชื่อของประธานฯและคณะกรรมการที่จะมาทำหน้าหน้าที่ด้วยหรือไม่ นายวุฒิสาร กล่าวว่า ขณะนี้ตนยังไม่ทราบว่ารูปแบบจะเป็นอย่างไร แต่ทั้งนี้รูปแบบที่จะเสนอก็จะมีการเสนอข้อห่วงใยว่าแต่ละรูปแบบเป็นอย่างไร รวมทั้งเงื่อนไขสำคัญว่าถ้าจะทำแล้วต้องให้มีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถแก้ไขได้จริง
สำหรับบุคคลที่จะมาทำหน้าที่จะทาบทามในภายหลังใช่หรือไม่ นายวุฒิสาร กล่าวว่า ตัวบุคคลจะยังไม่มีการพิจารณา เมื่อถามย้ำว่ามีข่าวว่าทางสถาบันฯทาบทามแล้วไม่มีคนมาเข้าร่วม นายวุฒิสาร กล่าวว่า ข่าวไปไกลมาก ตนยังไม่ได้ทาบทามใครเลยและไม่มีหน้าที่ทาบทามด้วย เพราะต้องได้รับการตรวจจากประธานรัฐสภาก่อน อีกทั้งเราก็ไม่รู้ด้วยว่าใครจะเป็นคนตั้ง ยังไม่มีความชัดเจนในส่วนนี้
เมื่อถามว่ารูปแบบที่จะเสนอมีการระบุด้วยหรือไม่ว่าฝ่ายใดต้องเข้าร่วมคณะกรรมการฯด้วย นายวุฒิสาร กล่าวว่า สำหรับเนื้อหาขอเสนอประธานรัฐสภาให้ได้รับทราบก่อน แต่ขอให้ทุกฝ่ายสบายใจว่าไม่ได้ช้าอย่างน้อยสถาบันฯ มีความพยายามตั้งใจทำงานตามที่ได้รับมอบหมายด้วยความรอบคอบ ไม่ใช่หน่วยงานที่ไปซื้อเวลา
เมื่อถามว่ามีความกดดันหรือไม่ต้องมาทำหน้าที่หารูปแบบในการตั้งคณะกรรมการฯ นายวุฒิสาร กล่าวว่า มีความกดดันแน่นอน แต่ตนคิดว่าเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายและทุกคนที่จะต้องทำให้เกิดอนาคตที่อยู่ร่วมกันได้ ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ ทั้งนี้สิ่งสำคัญต้องทำให้ทุกฝ่ายต้องใช้ความอดทน สติ และระงับไม่ให้เกิดความรุนแรง เราต้องช่วยป้องกันไม่ให้ประสบการณ์ในอดีตเกิดซ้ำ อะไรที่รีบทำได้ก็ควรรีบทำเพื่อให้เกิดความชัดเจนและมั่นใจทุกฝ่าย แต่ความยาก คือการสร้างความมั่นใจของทุกฝ่ายว่าจะเกิดความเชื่อมั่นได้อย่างไร.-สำนักข่าวไทย