ทำเนียบฯ 8 ต.ค.- “วิษณุ” ชี้ ข้อเสนอ สว.ให้ทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควบคู่กับการเลือกตั้ง อบจ. อาจทำให้เกิดความสับสน
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่สมาชิกวุฒิสภาเสนอให้ทำประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควบคู่กับการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ว่า การทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมกับการเลือกตั้ง อบจ. อาจเป็นแนวทางหนึ่ง ซึ่งจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะทำให้เกิดความสับสนหรือไม่ เพราะเมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ต้องไปออกเสียงประชามติอยู่ดี ซึ่งต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ แต่ขณะนี้ยังไม่เข้าสู่สภาฯ แต่หากมองในแง่ ประหยัดงบประมาณก็มีความเป็นไปได้ แต่ต้องถามทาง กกต. ซึ่งตนก็มองเห็นปัญหาบางอย่าง แต่ก็ต้องรอให้ กกต.ยกขึ้นพิจารณา
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงการชี้แจงของเลขาธิการ กกต. ต่อคณะรัฐมนตรี ถึงการเตรียมความพร้อมเลือกตั้งท้องถิ่นว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นต้องมีองค์ประกอบ 5 อย่างคือ 1. บุคลากรที่จะใช้การจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นคราวนั้น ๆ จะต้องพร้อม ซึ่งกกต. ก็ยืนยันว่าฝึกอบรมเรียบร้อยแล้ว 2. งบประมาณจะต้องมีพร้อม ซึ่งสำนักงบประมาณ ยืนยันว่าพร้อมแล้ว 3. กฎ ระเบียบต่าง ๆ ทาง กกต. ก็ออกครบเรียบร้อยแล้ว ระหว่างนี้อยู่ระหว่างการทยอยประกาศใช้ 4. การแบ่งเขตต่าง ๆ จะต้องพร้อม ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมแล้วเป็นส่วนใหญ่ ที่ยังไม่พร้อมเข้าใจว่ามีเทศบาล และ 5. ผู้สมัคร
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผู้บริหารและสมาชิก อบจ. อยู่ระหว่างรักษาการ ทั้ง 76 แห่ง แต่เมื่อ กกต. ประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด ตั้งแต่วันที่ กกต. ประกาศให้ทราบว่าให้มีการเลือกตั้ง ระหว่างนี้บรรดานายก อบจ. ต้องพ้นจากตำแหน่งทันที ส่วนจะลงสมัครหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง โดยผู้ที่รักษาการคือปลัด อบจ. และการเลือกตั้ง อบจ. ที่จะถึงนี้ หากไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดยไม่ชี้แจงเหตุอันควร จะมีผลเป็นการเสียสิทธิบางอย่าง เช่นเดียวกับกรณีไม่ไปเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งฝ่าย กกต. จะชี้แจงรายละเอียดตามกฎหมาย รวมถึงการเลือกตั้งระดับเทศบาล หากไม่ไปเลือกตั้ง ก็จะมีการเสียสิทธิ์เช่นกัน ดังนั้นเมื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ก็ต้องไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง จะมีการออกประกาศ แต่ไม่มีการออกพระราชกฤษฎีกาเหมือนเลือกตั้ง ส.ส.
ส่วนกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์วินิจฉัย พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2545 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญสามารถเรียกบุคคลให้เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการได้ ซึ่งรัฐบาลก็มีการส่งผู้แทนไปทุกครั้ง เพียงแต่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า การระบุให้มีโทษทางอาญา ขัดต่อรัฐธรรมนูญ.-สำนักข่าวไทย