ทำเนียบฯ 29 ก.ย.-ครม.เห็นชอบปรับกรอบวเงินรถไฟความเร็วสูง โครงการความร่วมมือไทย-จีน พัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วง กรุงเทพ-หนองคาย ระยะที่ 1 (กรุงเทพ-นครราชสีมา) ในสัญญา 2.3 จากวงเงิน 38,558.38 ล้านบาท เป็น 50,633.50 ล้านบาท
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบปรับกรอบวงเงินและร่างข้อตกลงการจ้างและสัญญาจ้างสัญญางาน ระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ฉบับสมบูรณ์ โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร- หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา)
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในส่วนของการปรับกรอบวงเงินนั้น ครม.เห็นชอบปรับกรอบวงเงินของสัญญางานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ที่ ครม.เคยอนุมัติไว้เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 จาก 38,558.38 ล้านบาท เป็น 50,633.50 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 12,075.12 ล้านบาท ซึ่งไม่กระทบกับกรอบวงเงินรวมของโครงการ และให้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดของสัญญา 2.3 และให้รัฐบาลเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด
น.ส.ไตรศุลี กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ในส่วนของกรอบวงเงินที่เพิ่มขึ้นนั้น ประกอบด้วย
1.การย้ายขอบเขตงานของงานระบบรถไฟความเร็วสูงที่ซ้อนทับอยู่ในขอบเขตของงานโยธา เป็นเงิน 7,032.78 ล้านบาท ซึ่งเป็นงานจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์บำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Maintenance) สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับขบวนรถไฟฟ้า (EMU Facility) โรงเชื่อมรางและกองเก็บ (Track Welding and Storage Base) และโรงกองเก็บราง (Long Track Storage Base) จึงได้ย้ายขอบเขตงานจากงานโยธาไปไว้ยังงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลฯ 2.การเปลี่ยนรุ่นขบวนรถ EMU จากรุ่น CRG2G (Hexie Hao) เป็น CR Series (Fuxing Hao) ซึ่งเป็นรถรุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยีและสมรรถนะที่ดีกว่า เป็นเงินเพิ่มขึ้น 2,530.38 ล้านบาท 3.การปรับเปลี่ยนทางแบบใช้หินโรยทาง (Ballasted Track) เป็นทางแบบไม่ใช้หินโรยทาง (Ballastless Track) ในทางวิ่งช่วงสถานีบางซื่อ-สถานีดอนเมือง ในสถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง สถานีนครราชสีมา และภายในอุโมงค์เพื่อให้ง่ายต่อการซ่อมบำรุง ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงในอนาคต อีกทั้งยังรักษาภาพลักษณ์และทัศนียภาพตลอดจนมลภาวะต่าง ๆ ที่จะเกิดจากการซ่อมบำรุงทางในสถานี ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองและภายในอุโมงค์ คิดเป็นค่าใช้จ่ายการเปลี่ยนโครงสร้างทาง เป็นเงินทั้งสิ้น 2,227.57 ล้านบาท 4.ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่ารับประกันผลงานจากความชำรุดบกพร่องจาก 1 ปี เป็น 2 ปี ตามระเบียบฯ ค่าดำเนินการต่าง และอื่น ๆ เป็นจำนวนเงิน 284.39 ล้านบาท
น.ส.ไตรศุลี กล่าวด้วยว่า ส่วนสาระสำคัญของร่างสัญญางานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) มีดังนี้ คือ เป็นสัญญาการจ้างรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นตัวแทนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีประสบการณ์ตรงด้านการพัฒนารถไฟความเร็วสูงที่ได้รับการรับรองคุณภาพและประสิทธิภาพจาก National Development and Reform Commission แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (CHINA RAILWAY INTERNATIONAL CO., LTD. และ CHINA RAILWAY DESIGN CORPORATION) มาเป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง ติดตั้งงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ระบบรถไฟความเร็วสูง จัดหาขบวนรถไฟ และฝึกอบรมบุคลากร ชื่อสัญญาภาษาอังกฤษว่า The Trackwork, Electrical and Mechanical (E&M) System, EMU, and Training Contract มีวงเงินของสัญญา 50,633.50 ล้านบาท ระยะเวลาเริ่มต้นของสัญญาแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1.การเริ่มต้นงานออกแบบระบบรถไฟความเร็วสูง และออกแบบระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนออกแบบขบวนรถไฟ 2.การเริ่มต้นงานฝึกอบรมบุคลากรเพื่อการเดินรถและซ่อมบำรุง และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และ 3.การเริ่มต้นงานก่อสร้าง ติดตั้งงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ระบบรถไฟความเร็วสูงที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาสิ้นสุดสัญญา 64 เดือน.-สำนักข่าวไทย