กรุงเทพฯ 25 ก.ย.- นักวิชาการด้านกฎหมาย ชี้ ตั้ง กมธ.ศึกษาญัตติแก้ รธน. เป็นการหน่วงเวลา แต่ยังพอรับได้และมีเหตุผล แต่ต้องจับตาผลการศึกษา เชื่อ อุณหภูมิการเมืองร้อนแรงถึงขั้นปะทุ หากไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม ย้ำ ต้องแก้ รธน. ไม่ว่าจะวิธีใดก็ตาม
นายเจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย เปิดเผยกับ “สำนักข่าวไทย” ถึงกรณีที่ประชุมรัฐสภามีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาญัตติร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 6 ฉบับ ว่าอาจจะเร็วไป หากจะมองว่าเป็นการยื้อเวลา เนื่องจากจะต้องดูเนื้อหาในการถกเถียงกันของคณะกรรมาธิการดังกล่าว และระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ ที่ไม่จำเป็นจะต้องใช้เวลาเต็มตามที่กำหนด รวมถึง ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมหลังจากคณะกรรมาธิการฯ ได้พูดคุยประชุมหารือกันแล้ว ซึ่งจะต้องมีผลออกมาให้ประชาชนได้รับทราบ
“ในขณะนี้คงจะพูดได้ยากว่า เป็นการยื้อเวลา แต่อาจจะเป็นการหน่วงเวลาไว้ เพราะหากรีบเร่งเกินไป อาจจะไม่เป็นผลดี แต่ถ้าช้าเกินไป ก็อาจจะก่อให้เกิดผลเสียได้ ดังนั้น จึงต้องใช้เวลานี้ให้เป็นประโยชน์ ในการสร้างความรอบคอบขึ้นมา” นายเจษฎ์ กล่าว
นายเจษฎ์ ยอมรับว่า จากกรณีดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบทำให้เพิ่มอุณหภูมิทางการเมืองแน่นอน แต่อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น คงยังไม่ถึงขนาดที่จะปะทุ แต่หากทำงานไปแล้ว ไม่ได้เรื่องอะไรเลย และท้ายที่สุด ไม่เกิดผลลัพธ์ที่จะไปอธิบายรายละเอียดของญัตติทั้งหมด เมื่อถึงเวลาจะลงมติในญัตติเหล่านั้นก็ไปคว่ำทั้งหมด หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ รับรองว่าอุณหภูมิร้อนแรงขึ้นมา และมีการปะทุแน่นอน
เมื่อถามว่า อะไรจะใช้เวลานานกว่ากัน หากเปรียบเทียบระหว่าง ญัตติผ่านความเห็นชอบ จนกระทั่งมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กับการตั้งกรรมาธิการศึกษาก่อนจะลงมติ นายเจษฎ์ กล่าวว่า แน่นอนว่า การตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา ยังใช้เวลานานในการลงมติ เพราะเป็นการยืดระยะเวลาการลงมติ แต่หากไม่ใช้แบบนี้ แล้วเกิดผลเสีย อย่างที่สมาชิกรัฐสภาหลายคนกังวล ท้ายที่สุด ความไม่รอบคอบจะทำให้ระยะเวลานานขึ้นไปอีก และสูญเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์
“การตัดสินใจในวันนี้ ยังพอฟังได้และมีเหตุมีผล แต่หลังจากทำการศึกษาออกมา แล้วไม่เกิดอะไรขึ้นเลย ก็จะฟังไม่ขึ้นแล้ว และก็จะยิ่งเป็นปัญหา” นายเจษฎ์ กล่าว
ส่วนทิศทางหลังจากคณะกรรมาธิการศึกษาแล้วเสร็จ จะเกิดการแก้รัฐธรรมนูญได้จริงหรือไม่นั้น นายเจษฎ์ มองว่า ต้องมีทางออกของการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะหากไม่แก้เลยก็ไม่ได้ อย่างไรก็ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติม เพียงแต่จะแก้ไขเพิ่มเติมแบบรายมาตรา โดยยกบางมาตรา หรือ จะแก้ไขรายมาตรา แต่ดูให้หมดเลยว่ามาตราใดบ้าง หรืออีกวิธีก็คือการตั้ง ส.ส.ร. แต่การจะบอกว่า ไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ คงไม่ได้แล้ว ดังนั้น ตอนนี้ต้องรอดูการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ .- สำนักข่าวไทย