กรุงเทพฯ 11 ก.ย.- “ยุทธพร” เชื่อ มธ.ไม่ให้ใช้สถานที่ชุมนุมใหญ่ 19 ก.ย.ไม่ทำให้การชุมนุมรุนแรงขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับท่าทีของรัฐบาลมากกว่า
นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผยกับสำนักข่าวไทย ถึงกรณีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่อนุญาตให้กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายนนี้ว่า อาจจะส่งผลกระทบ พอสมควร เมื่อมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่แล้ว ในทางกฎหมาย การที่จะได้รับการคุ้มครอง ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุม ก็เป็นสิ่งที่ต้องตีความว่าจะได้รับการคุ้มครองหรือไม่ เพราะตามกฏหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมีการยกเว้นการบังคับใช้ในบริเวณสถานศึกษา ดังนั้นการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่อนุมัติ ให้ใช้สถานที่ก็อาจจะเป็นประเด็นกฎหมายที่ก่อให้เกิดการตีความต่อไปว่า จะถือว่า เป็นการชุมนุม ซึ่งกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมนั้นจะสามารถเข้าไปมีอำนาจในการจัดการในสถานการณ์ตรงนั้นได้หรือไม่ ส่วนในทางการเมืองนั้น แน่นอนว่า ก็อาจจะกลายเป็นประเด็นที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถาม เรื่องเสรีภาพทางวิชาการของมหาวิทยาลัย รวมถึงการมองว่า รัฐเข้าไปควบคุมกำกับมหาวิทยาลัยต่างๆ แต่เชื่อว่า คงไม่ส่งผลถึงขั้นทำให้การชุมนุมขยายตัวหรือบานปลาย เพราะแม้จะไม่ได้รับการอนุญาตให้ใช้สถานที่ต่างๆแต่การชุมนุมก็ยังเดินหน้าต่อไป
นายยุทธพร กล่าวอีกว่า แต่สิ่งที่จะทำให้การชุมนุมขยายวงกว้าง ก็คือ ท่าทีของรัฐบาลในการแก้ปัญหาและพูดคุย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สิ่งสำคัญคือควรจะมีกลไกรับฟังความคิดเห็น และการจัดเวทีใหญ่ เพื่อรับฟังความคิดเห็น ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ มองว่า หากมีความรุนแรงเกิดขึ้น ไม่ว่าความรุนแรงจะเกิดขึ้นจากฝ่ายใดก็ตาม ก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้การชุมนุมขยายวงกว้างไปมากขึ้น
นายยุทธพร ยังกล่าวอีกว่า การที่กลุ่มประชาคมธรรมศาสตร์คัดค้านการใช้พื้นที่ชุมนุมสะท้อนให้เห็นภาพของการปะทะกันในเชิงความคิด โดยเฉพาะคนในอีกรุ่นหนึ่งซึ่งเติบโตมาในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่เรียกว่าความเป็นไทยในขณะที่คนอีกรุ่นหนึ่งเติบโตมาในบริบทของความเป็นพลเมืองโลก cosmopolitan อันเนื่องมาจากปัจจัยหลายประการได้แก่
1.ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมส่งผลให้มีโครงสร้างประชากรคนรุ่นใหม่และม็อบที่เกิดขึ้นก็คือมอบของคนชั้นกลางในเมืองรุ่นใหม่
2.ความผันผวนของโลก disruptive world เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ การต่อสู้อุดมการณ์อนุรักษนิยมกับเสรีนิยม และวิกฤต COVID-19
3.ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทำให้คนรุ่นใหม่มีทางเลือกในการสื่อสาร และเชื่อมต่อกับโลกมากขึ้น เกิดค่านิยม ทัศนคติ ที่เป็นพลเมืองโลก เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม เพศสภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน.-สำนักข่าวไทย