รัฐสภา 8 ก.ย.-“จเด็จ” ยันรัฐธรรมนูญไร้ปัญหา แนะ ส.ส.อยากแก้ ต้องแสดงเหตุผล พร้อมเปิดทางแก้ หากจำเป็น เหตุแก้ รธน.ครั้งนี้ มีวาระซ่อนเร้น
นายจเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แถลงถึงท่าทีต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่ม 60 ส.ว. ว่า เหตุผลที่กลุ่ม 60 ส.ว.ออกมาแสดงท่าที เพราะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ว.ที่จะเห็นตรงกันหรือเห็นต่างกันบ้าง ซึ่งเป็นผลมาจากการชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนปลดแอก และปัญหาความขัดแย้งในเรื่องต่าง ๆ ทำให้ ส.ว.ได้หารือกันเห็นว่า เพื่อหาข้อสรุปว่าหากไม่แก้ จะเกิดความวุ่นวายแบบฮ่องกงโมเดลจะเกิดขึ้นได้ แต่ต้องดูว่าปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่ดี เป็นเพราะรัฐธรรมนูญไม่ดีจริงหรือไม่ ดังนั้นต้องมาดูว่ารัฐธรรมนูญมาตราใดมีปัญหากันแน่
นายจเด็จ กล่าวดว่า แต่ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้มีวาระซ่อนเร้น ที่ไม่พอใจนายกรัฐมนตรีก็เลยจะมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่การแก้รัฐธรรมนูญ ยังมีเงื่อนไขตามมาตรา 256 ที่มี ส.ว.เข้ามามีส่วนร่วมโหวตด้วย และหากจะแก้มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ก็ต้องไปแก้มาตรา 256 ก่อนเพราะสัมพันธ์กัน
นายจเด็จ ยืนยันว่า ส่วนตัวไม่เห็นว่ารัฐธรรมนูญจะมีปัญหาอะไร จึงไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะมาตราใด แต่หากจะแก้ไข ส.ส.ต้องแสดงให้เห็นว่ามาตราใดทำให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง ยืนยัน ว่า ส.ว.ไม่ได้ปิดตายว่าต้องไม่แก้ แต่การเมืองมีวาระซ่อนเร้น ดังนั้นขอให้ชี้แจงมาว่ามาตราใดมีปัญหา เช่น มาตรา 272 ก็กำหนดชัดเจนแล้วว่าในวาระ 5 ปีเริ่มแรก ซึ่งเวลานี้ก็ผ่านมา 3 ปีแล้ว รออีกไม่นาน ขอให้ใจเย็น ๆ ส.ว.พร้อมอยู่ข้างประชาชน อย่าหลงใหลกับการทำร้ายสถาบัน หรือขุดเหง้าวัฒนธรรมอันดีงาม ด้วยการก้าวร้าว พูดจาหยาบคาย
“ทำไมเด็ก ๆ เหล่านี้ไม่คิดว่าถูกแทรกแซงจากสื่อต่างชาติ พี่น้องประชาชนกรุณาคิดด้วยความเป็นธรรม ต้องอยู่ด้วยเหตุผล บ้านเมืองถึงอยู่รอดได้ ยอมรับว่าห่วงการชุมนุมใหญ่ที่กำลังจะมีขึ้น แต่ยืนยันว่าสมาชิกรัฐสภาจะรักษาแผ่นดินนี้” นายจเด็จ กล่าว
นายจเด็จ กล่าวอีกว่า ในการพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวันที่ 24 กันยายนนี้ เป็นไปได้ที่ ส.ว.จะไม่เห็นชอบกับหลักการดังกล่าว แต่ต้องรอฟังการอภิปรายเหตุผลของ ส.ส.ก่อน หากมีเหตุผลที่เข้าใจได้ ก็อาจจะโหวตรับหลักการ ยืนยันว่าไม่ได้ปิดตายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากมาตราใดเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ก็ขอให้บอกมา ส.ว.ก็พร้อมที่จะแก้ไข แต่ย้ำว่าต้องไม่ใช่การยกร่างรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทั้งนี้ ยอมรับว่ามี ส.ว.บางกลุ่มที่เห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร. แต่ไม่ได้มีจำนวนที่มากนัก ซึ่งก็เป็นเอกสิทธิ์ส่วนตัว
“กลุ่ม ส.ว.ที่เป็นทหารมีอยู่ประมาณ 120 คน วางตัวและเป็นผู้ใหญ่ที่ดี นั่งมองอยู่ และสงวนความเห็น แต่ผมก็ไม่กล้าคิดแทนท่านว่าที่สุดแล้วท่านจะคิดอย่างไร” นายจเด็จ กล่าว.-สำนักข่าวไทย