นักการเมืองประสานเสียงแก้ 256 ตั้งส.ส.ร.ร่างรธน.

สมาคมนักข่าวฯ 21 ส.ค.-ครป.เปิดเวทีเสวนาแก้ รธน. นักการเมืองแนะ คุ้มครองสถานะส.ส.ร.ไม่ผูกมัดรัฐบาล “สุทิน” ขีดเส้น ส.ส.ร.ทำงาน 120 วัน 15 เดือนต้องได้รธน.ใหม่ ขณะ “ภราดร” แนะฟังความเห็นรอบด้าน อย่ารีบเร่ง ให้เวลาส.ส.ร.ทำงาน 1 ปี


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)จัดเวทีเสวนาสาธารณะภาคการเมืองและรัฐสภา หัวข้อ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และอนาคตของชาติบ้านเมือง” มีตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วมเป็นวิทยากร โดยนายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธาน ครป. กล่าวเปิดการเสวนากรณีกระแสเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ทุกฝ่ายในสังคมเห็นพ้องต้องกันว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีที่จะคลายปมความขัดแย้งไปได้ในระดับหนึ่ง และสามารถดึงความขัดแย้งนอกสภามาคุยในสภาได้ เพื่อเป็นเวทีหลอมรวมความขัดแย้งให้พูดจากันด้วยเหตุและผล

“เรื่องการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) พรรคการเมืองก็เห็นด้วย แต่คงต้องใช้เวลาพูดคุย เพราะยังมี ส.ว.ที่ไม่เห็นด้วย ส่วนเรื่องกรอบเวลา ยังมีปมปัญหาเรื่องช่วงเวลาของการยุบสภา และนอกจากการแก้มาตรา 256 แล้ว ยังมีปมที่เกี่ยวกับ ส.ว. ที่มีส่วนหนึ่งไม่ต้องการให้มี ส.ว. บางส่วนให้ยังมีอยู่และตัดอำนาจบางส่วน แต่ต้องยอมรับว่าส.ว.ต้องมีส่วนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย จึงยากที่จะทำให้ ส.ว.หมดสิ้นไปจากสภา แต่หากให้คง ส.ว.ไว้ และลดอำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรี ก็น่าจะเป็นไปได้” ประธาน ครป. กล่าว


นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ว่า เราเห็นสถานการณ์แบบนี้มาตลอด แต่บุคคลที่มาเรียกร้องแตกต่างไปตามยุคสมัย ซึ่งการเรียกร้องทางการเมืองถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ประเด็นที่แปลกประหลาด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนความต้องการของประชาชน ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงรัฐธรรมนูญเหมือนกับเป็นกฎกติกาของบ้านเมือง ซึ่งเหตุการณ์ของบ้านเมืองเปลี่ยนไปทุกยุคสมัย ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงต้องปรับแก้ไขได้อยู่แล้ว

“ประเทศสหรัฐอเมริกาแก้รัฐธรรมนูญบ่อยมาก แต่วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสหรัฐจะเก็บต้นฉบับไว้และแก้ไขไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงยุคหนึ่งที่รู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นปัญหามากต่อสังคม ดังนั้น ทุกประเทศในโลกไม่มีรัฐธรรมนูญที่ไม่ถูกแก้ไข แต่เหตุผลและวิธีการนั้นแตกต่างกันไป การแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเทศไทยจึงไม่แปลกอะไร และหากดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประชาชน ก็ไม่เป็นปัญหา แต่ประเทศไทยจะทำอย่างไรให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญของประเทศไทยเป็นคู่มือประชาชนที่มีไว้สำหรับคุ้มครองสิทธิของประชาชน ไม่ใช่เป็นคู่มือของฝ่ายการเมือง ประชาชนก็ม่ทราบว่าจะได้ประโยชน์อะไรจากรัฐธรรมนูญ หัวใจของรัฐธรรมนูญคือ ต้องทำอย่างไรให้ประชาชนรู้สึกว่าเป็นของพวกเขา” นายพีระพันธุ์ กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ในส่วนของคณะกรรมาธิการฯ ได้ทำความเข้าใจว่ามาเพื่อศึกษา ไม่ได้มาเพื่อแก้ ไม่ว่าจะมาจากพรรคใด แต่เอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ยืนยันว่าการประชุมกรรมาธิการ ฯ ทุกนัด ไม่เคยพูดถึงประโยชน์ทางการเมือง เคารพทั้งเสียงข้างมากและข้างน้อย ดังนั้น ถ้าเมื่อใดที่ร่วมมือทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง จะไม่เกิดความขัดแย้ง และเมื่อพิจารณาถึงมาตรา 256 ความเห็นส่วนใหญ่เห็นว่าควรต้องแก้ไข เพราะไม่เช่นนั้นจะยุ่งยากลำบากและใช้เวลามากเกินไป ต่อมาก็มีข้อเสนอว่าหากจะต้องยกร่างทั้งฉบับ ก็ให้ใช้ระบบ ส.ส.ร.


นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน)มองปรากฏการณ์การชุมนุมว่า ไม่ควรมองข้าม และควรนำปรากฎการณ์เป็นตัวกระตุ้นให้แก้ไข และการแก้ไขที่จะดำเนินการได้ในวันนี้ คือ กติกาซึ่งคือรัฐธรรมนูญ เพราะผู้ชุมนุมเรียกร้องชัดเจน แต่แม้ไม่มีการชุมนุมก็มองว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่การชุมนุมมาเป็นสิ่งเร้าให้แก้ไขเพิ่มขึ้น

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ทั้งการนำสังคมเข้าและออกสู่ความขัดแย้ง หลายครั้งนำสู่การวิกฤติครั้งใหญ่ แต่หลายครั้งที่ความขัดแย้งแก้ไขด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องดูว่าครั้งนี้จะแก้ถูกหรือแก้ผิด สิ่งที่ต้องตระหนักมาก ๆ คือหลายครั้งมีกลุ่มที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มอยากแก้จริง ๆ เพื่อหวังผลสัมฤทธิ์ที่เป็นทางออกของสังคม 2. แก้เพื่อลดกระแส แต่ไม่จริงใจให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่พึงระวัง 3.แก้เพื่อสร้างกระแส เพื่อเอาใจมวลชน ถ้าไม่หวังผลสัมฤทธิ์ จะเกิดปัญหา ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญในแบบที่หนึ่ง จากนั้นมาคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะสัมฤทธิ์ โดยการนำบทเรียนมาพิจารณา ด้วยการปิดจุดเสี่ยงคือ ส.ว. เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ ส.ว.เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ หาก ส.ว.ไม่เห็นด้วยก็ล้มตั้งแต่ยกแรก และปิดจุดที่สอง คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2555 ที่วินิจฉัยว่าการแก้ไขเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ” ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าว

นายสุทิน กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมี 3 หลักการ คือ ฟังประชาชน ฟังคณะกรรมาธิการศึกษาหลักเกณฑ์ฯ แล้วนำมาสรุปร่วมกับจุดยืนของพรรคเพื่อไทย ซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะออกจากความขัดแย้ง ก้าวสู่ความปรองดอง คือรัฐธรรมนูญที่ทุกคนยอมรับ เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมา จะเห็นการไม่ยอมรับกัน การจะยอมรับได้ต้องดูว่า ที่มาของรัฐธรรมนูญ ใครเป็นคนเขียน สาระเนื้อหาที่แบ่งปันอำนาจอย่างชอบธรรม ส่วน ส.ส.ร.ที่ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน และเป็นครั้งแรกที่จะกำหนดเกณฑ์อายุต่ำสุด 18 ปี ให้เข้ามาเป็น ส.ส.ร.

“พรรคเพื่อไทยจะเป็นหนึ่งในประชาชนที่เสนอข้อเรียกร้องต่าง ๆ ให้ ส.ส.ร.เป็นผู้เขียน เพราะพรรคเพื่อไทยจะไม่เขียนเอง เพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับ ส่วนเงื่อนเวลาที่เหมาะสม ประมาณการณ์ไว้ว่าเมื่อแก้มาตรา 256 เสร็จ จะทูลเกล้าฯ ได้ภายในกุมภาพันธ์ 2564 จากนั้นมี ส.ส.ร.ในเดือนกุมภาพันธ์ ทำงาน 120 วันและทำประชามติ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้นภายใน 13 เดือนไม่เกิน 15 เดือน จะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนที่กังวลว่ารัฐบาลจะนำส.ส.ร.ไปอ้างเพื่อต่ออายุรัฐบาลนั้น รัฐบาลสามารถอ้างการต่ออายุรัฐบาลได้ถึงเดือนกุมภาพันธ์ คือ จนกว่าจะมี ส.ส.ร. และเมื่อมี ส.ส.ร.แล้ว ต่อให้รัฐบาลจะอยู่ต่อหรือยุบสภาก็ไม่กระทบการทำงานของส.ส.ร.” นายสุทิน กล่าว

นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต และนักศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงสถานการณ์การชุมนุมว่า เป็นการชุมนุมที่แปลกประหลาดกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา การก่อตัวขึ้นมาต้องย้อนไปเหตุการณ์ 14 ตุลาคมที่สถานการณ์การเกิดขึ้นนั้นคล้ายกันมาก เพราะ 14 ตุลาเกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศมีรัฐประหารยาวนาน 10 ปี ประชาชนรู้สึกไม่เป็นธรรม รู้สึกไม่ดีกับรัฐบาล

“เช่นเดียวกับสถานการณ์วันนี้ ไม่ใช่พึ่งก่อตัว แต่ก่อตัวตั้งแต่รัฐประหาร สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 5-6 ปี เป็นสิ่งที่กดทับจากหลายเหตุการณ์ เช่น นาฬิกาเพื่อน แหวนแม่เป็นเหตุการณ์ที่หลายคนติดใจ และบางเหตุการณ์ หลายฝ่ายมองว่าไม่เป็นธรรม หรือการคิดคะแนนผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นการกดทับของสังคมที่พร้อมจะระเบิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งนี้ การชุมนุมตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นจากข้างในสภาฯ แล้วข้างในสภาฯต่อสู้ไม่ชนะ แล้วต่อสู้ข้างนอก แต่ครั้งนี้ คือการต่อสู้นอกสภา แล้วเข้ามาในสภา ผมจึงมองว่า เป็นเรื่องที่แปลกประหลาดมาก แต่เป็นสัญญาณที่ดีว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่สังคมจะมีความขัดแย้ง เพราะประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยต้องมีความโต้แย้ง” นายภราดร กล่าว

ส่วนแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายภราดร กล่าวว่า ถ้าผู้มีอำนาจไม่อนุญาตให้แก้ไข ก็จะเป็นไปไม่ได้เลย จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกัน แต่จะแก้ไขเป็นรายมาตราจะยากมากในการเลือกว่าจะแก้ไขมาตราใด พรรคภูมิใจไทยจึงเห็นว่า ควรตั้ง ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญ แต่ที่มาของ ส.ส.ร.ควรมาจากประชาชน แต่การมาจากประชาชนมีหลายรูปแบบ ทั้งการเลือกตั้งทางตรง เลือกตั้งทางอ้อม ข้อดีของการเลือกตั้งทางตรง คือการคืนอำนาจให้กับประชาชนทั้งหมด แต่ไม่สามารถการันตีความหลากหลายในสาขาอาชีพได้ ทั้งที่รัฐธรรมนูญต้องมีตัวแทนจากคนทุกกลุ่มทุกวัยทุกสาขาอาชีพ การเลือกตั้งทางตรงอาจจะไม่ตอบโจทย์หรือไม่ และ ส.ส.ร.ควรแบ่งเป็น 2 ส่วนหรือไม่

“มีทั้งทางตรงและทางอ้อม จากนักเรียน นักศึกษาและกลุ่มสาขาอาชีพโดยใช้วิธีการเลือกไขว้ ส่วนเงื่อนเวลาของการได้มาซึ่ง ส.ส.ร. อาจใช้เวลา 6 เดือน ตั้งแต่กันยายน 2563 ถึงกุมภาพันธ์ 2564 แต่หากให้เวลาส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญแค่ 4 เดือนหรือ 120 วันตามที่นายสุทินคาดการณ์ ผมมองว่าเร็วเกินไป เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ใช้เวลาประมาณ 13 เดือน และส.ส.ร.เดินทางไปทั่วประเทศเพื่อรับฟังความคิดเห็น หากจำกัดเวลา ส.ส.ร.แค่ 4 เดือน จะเป็นการเร่งรัดให้ส.ส.ร.ทำงานเร่งรัด เร่งรีบเกินไป ยืนยันผมไม่ได้เรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญยาวนาน 11 ปีเหมือนสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่แค่มองถึงความเหมาะสม ที่ควรให้เวลาส.ส.ร. 10 เดือนถึง 1 ปีร่างรัฐธรรมนูญ” นายภราดร กล่าว

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่มีแนวคิดมาตลอดว่าต้องการให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ด้วยการตั้ง ส.ส.ร. ต้องยกเลิกมาตรา 269-272 เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.ที่มาจาก คสช.อย่างเป็นทางการ แต่ให้ใช้วุฒิสภาปกติต่อไป ยกเลิกการกำหนดว่ากฎหมายปฏิรูปประเทศต้องประชุมร่วมรัฐสภา และมาตรา 272 การให้อำนาจส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีต้องยกเลิก รวมถึงมาตรา 279 ที่รับรองคำสั่งของ คสช. ขณะที่ ส.ส.ร.ควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด ไม่ต้องมาจากทางอ้อมหรือแบ่งเป็น 2 กลุ่ม เพื่อไม่ให้ส.ส.ร.บางคนมีอิทธิพลเหนือ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนบางจังหวัดที่ประชากรมากและมี ส.ส.ร.ได้มากกว่า 1 คน ควรใช้วิธีการเลือกแบบวันแมนวันโหวต สำหรับหลักเกณฑ์อายุของ ส.ส.ร.คือ 18 ปีขึ้นไป เพราะมีความคิดความอ่านทางการเมืองชัดเจน นอกจากนี้ ไม่ควรกำหนดว่าห้ามแก้รัฐธรรมนูญในหมวดใดหมวดหนึ่ง แต่ควรเปิดกว้าง

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า อย่าเพิ่งมองว่าใครเป็นคนร่าง ใครเป็นคนใช้ ขอให้หันกลับมามองสาระของรัฐธรรมนูญ ต่อให้ไม่มีการชุมนุม รัฐธรรมนูญก็ยังต้องแก้ไข เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์มีมติชัดเจนว่าไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับใช้ ก็ต้องเคารพและเดินตามกติกา แต่ความตั้งใจไม่ได้เปลี่ยนไป เพราะเมื่อพรรคไปร่วมรัฐบาลก็มุ่งเป้าแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะมาตรา 256 ทั้งนี้ ยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญเพียงลำพัง เพราะมีเสียงเพียง 52 เสียง ซึ่งการยื่นญัตติต้องใช้ 98 เสียง จึงต้องแสวงหาความร่วมมือจากพรรคอื่น อย่างไรก็ตาม การแก้รัฐธรรมนูญต้องไม่กระทบกับหมวด 1-2

“ส่วน ส.ส.ร.พรรคประชาธิปัตย์วางไว้ว่า 200 คน ควรมาจากการเลือกตั้ง 150 คน และ 50 คน มาจากการสรรหายวิชาชีพ ทั้งนักกฎหมายมหาชน ด้านรัฐศาสตร์ ด้านการเมืองการปกครอง และครอบคลุมเยาวชนนิสิต นักศึกษา เกณฑ์อายุขั้นต่ำ 18 ปีผ่านกระบวนการภายในสถานศึกษา และพร้อมเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาในฐานะที่เป็นผู้ใช้รัฐธรรมนูญโดยตรงเข้าร่วมเป็น ส.ส.ร.ในฐานะประชาชนได้ โดยที่ส.ส.ร.ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ และเมื่อตั้ง ส.ส.ร.แล้ว ควรทบทวนบทเฉพาะกาลที่กำหนดให้ ส.ว.มีส่วนเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย เชื่อว่าเดือนกุมภาพันธ์น่าจะได้เห็นหน้าตาของ ส.ส.ร. ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของรัฐบาล” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ค้นบ้านสามารถ

ดีเอสไอเข้าค้นบ้าน “สามารถ” คดีฟอกเงินดิไอคอน

ดีเอสไอเข้าค้นบ้าน “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” คดีฟอกเงินดิไอคอน หลังพบเงิน “บอสดิไอคอน” โอนเข้าบัญชีแม่ของนายสามารถ

หมอบุญ

THG แจงบริษัทไม่เกี่ยวข้องคดีต่างๆ ที่เกิดจาก “หมอบุญ”

THG แจงตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบัน “หมอบุญ” ไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารใน THG คดีฉ้อโกงใดๆ ที่เกิดขึ้น บริษัทไม่เกี่ยวข้อง

คะแนนไม่เป็นทางการ เลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ

ลุ้นผลคะแนนเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช นับเสร็จแล้วบางหน่วย ล่าสุด ณ เวลา 19.40 น. “วาริน ชิณวงศ์” เบอร์ 2 จากทีมนครเข้มแข็ง ชนะคู่แข่งขาดลอยในหลายหน่วย คะแนนทิ้งห่างแชมป์เก่า “กนกพร เดชเดโช” เบอร์ 1 จากพรรค ปชป.

“ทนายสายหยุด” จ่อถอนตัวคดีตั้ม หวั่นติดร่างแห

“ทนายสายหยุด” เตรียมถอนตัวเป็นทนายให้ “ตั้ม” เผยในมือมีแต่พยานเท็จ ปิดบังข้อเท็จจริง เสี่ยงเป็นผู้ร่วมกระทำผิด

ข่าวแนะนำ

วิเคราะห์การเมืองสนามใหญ่ หลังศึกเลือกตั้งนายก อบจ.

วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งนายก อบจ. 4 สนามใหญ่ โดยเฉพาะอุดรธานี ที่สะท้อนถึงความนิยมในตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

“บิ๊กเต่า” ลั่นเตรียมมอบกุญแจมือเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนดัง ส่งนอนห้องขัง

“บิ๊กเต่า” ลั่นเตรียมมอบ “กุญแจมือ” เป็นของขวัญปีใหม่ให้อินฟลูฯ นักร้อง คนดัง ส่งนอนห้องขังวีไอพี เผยปม “ฟิล์ม รัฐภูมิ” คาดมีความชัดเจนภายในสัปดาห์นี้

หมอบุญ

THG แจงบริษัทไม่เกี่ยวข้องคดีต่างๆ ที่เกิดจาก “หมอบุญ”

THG แจงตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบัน “หมอบุญ” ไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารใน THG คดีฉ้อโกงใดๆ ที่เกิดขึ้น บริษัทไม่เกี่ยวข้อง