กรุงเทพฯ 20 ส.ค.-กองทัพอากาศ จัดการประชุมสัมมนาด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการศึกษากองทัพอากาศ ประจำปี 2563 ต่อยอดงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ให้พึ่งพาตนเองได้ตามยุทธศาสตร์ 20 ปี
พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และการศึกษากองทัพอากาศ ประจำปี 2563 ที่พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ เพื่อต่อยอดความสำเร็จจากการจัดการประชุมสัมมนาทางวิชาการกองทัพอากาศ หรือ RTAF Symposium 2020 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อริเริ่มส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของกองทัพอากาศ และมีการเผยแพร่สมุดปกขาวกองทัพอากาศ พ.ศ.2563 เพื่อเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนและส่งเสริมอุตสาหกรรมประเทศมุ่งมั่นพัฒนาคนและการศึกษาเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “กองทัพอากาศและการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ” มีใจความตอนหนึ่งว่า กองทัพอากาศ มีการต่อยอดงานวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมด้านป้องกันประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีความก้าวหน้าได้ด้วยการมีเทคโนโลยีเป็นฐานรากสำคัญ จึงจำเป็นต้องมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และเทคโนโลยีจากภาคเอกชนรวมถึงเหล่าทัพและภาครัฐ เพื่อรวมกันกำหนดทิศทางของกองทัพอากาศ และประเทศไปสู่อนาคต โดยมีเป้าหมายในการพึ่งพาตนเองเป็นสำคัญ ถือเป็นการสร้างบริบทใหม่ในการทำให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมกับกองทัพอากาศในการวิจัยและพัฒนา อุตสากรรมการป้องกันประเทศ โดยเฉพาะด้านดาวเทียมและไซเบอร์ ให้เป็นไปตามมาตรฐานระดับสากลเพื่อรวมกันผลักดันให้กองทัพอากาศ พัฒนาสู่กองทัพอากาศชั้นนำในภูมิภาค ในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศในด้านอากาศและอวกาศ ตามยุทธศาสตร์ 20 ปีของกองทัพอากาศ
นอกจากการปาฐกถาพิเศษของ ผู้บัญชาการทหารอากาศแล้ว กองทัพอากาศยังได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมให้ความรู้ มีการจัดประชุมสัมมนากลุ่มย่อย อาทิ การจัดหาและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย เส้นทางการพัฒนาด้านอากาศยานและเทคโนโลยีอวกาศกองทัพอากาศ และกลุ่มสัมมนาด้านกิจการอวกาศด้วย
ทั้งนี้ภายในงานยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมของอาจารย์และนักเรียนนายเรืออากาศที่สำคัญ อาทิ การสาธิตการปฏิบัติงานของอากาศยานไร้คนขับพลังงานแสงอาทิตย์สมรรถนะสูงเพดานบินต่ำ M Solar X UAV, อากาศยานไร้คนขับสำหรับบินกระจายเสียง “จักจั่น” (Broadcast UAV) และอากาศยานไร้คนขับสำหรับบินลำเลียงสิ่งของ “ม้าบิน” (Delivery UAV) .-สำนักข่าวไทย