กรุงเทพฯ 17 ส.ค. – จากบรรยากาศและสถานการณ์การเมืองที่เราเห็นกัน หลายคนห่วงว่าจะนำไปสู่จุดไหนอย่างไร ซึ่งนักวิชาการประเมินแนวทางความเป็นไปได้ว่า มีโอกาสที่จะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ หรือยุบสภา ขณะนี้ต้องจับตาท่าทีของรัฐบาลว่าจะส่งสัญญาณอย่างไร ติดตามจากรายงาน
สถานการณ์การเมืองเข้มข้น เมื่อเกิดการรวมตัวของนักศึกษา ภายใต้เงื่อนไข 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน คือ หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยุบสภา ไม่เห็นด้วยรัฐประหาร ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ สอดรับกับการเดินเกมในสภาฯ เมื่อฝ่ายค้านเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ กดดันให้รัฐบาลเร่งเสนอมาประกบ แสดงความจริงใจ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ ตัวแปรสำคัญ คือ ส.ว. เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดชัด การยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องมีเสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 จาก 250 เสียงเห็นชอบ แต่เสียง ส.ว. ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ส.ว. สายสนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มองว่า หากไม่สนับสนุน จะมี 2 ทางสุดขั้วเกิดขึ้น คือ “รัฐประหารกับปฏิวัติโดยประชาชน”
แต่นักวิชาการประเมินว่า สถานการณ์ไม่น่าจะนำไปสู่ความรุนแรง เมื่อเทียบเคียงกับการชุมนุมในประวัติศาสตร์การเมืองไทยในอดีต ทั้งยังเห็นว่ามีแนวทางที่จะหาจุดสมดุลประคับประคองสถานการณ์ และมีความเป็นไปได้ทั้งเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา หรือยุบสภา
นักวิชาการอีกท่านเสนอให้รัฐบาลฟังเสียงประชาชน ทำประชามติถามว่า ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าแก้ จะทำรายมาตราหรือทั้งฉบับ เพื่อเป็นทางสายกลางและอ้างอิงได้
หลายฝ่ายเห็นตรงกันในการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ การเปิดเวทีสภาฯ รับฟังความเห็น เป็นการยื้อเวลา หยุดการเคลื่อนไหวไม่ได้ ทางออกหลัก คือ แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เปิดทางให้มี ส.ส.ร. ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ลดอำนาจ ส.ว. ไม่ให้เลือกนายกฯ ปรับระบบเลือกตั้ง ยกเลิกระบบจัดสรรปันส่วนผสม แต่คงไม่ง่าย เพราะต้องผ่านด่าน ส.ว.
สุดท้ายคงต้องรอท่าทีชัดเจนจากรัฐบาลว่าจะส่งสัญญาณอย่างไร ซึ่งจะทำให้เห็นความจริงใจในการแก้วิกฤติการเมืองครั้งนี้. – สำนักข่าวไทย