กรุงเทพฯ 14 มี.ค. – ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ลงนามในคำสั่งย้าย “อธิบดีกรมวิชาการเกษตร” มาช่วยราชการที่กระทรวงเกษตรฯ หลังมีหนังสือร้องเรียนเอื้อเอกชนเรียกรับเงินตรวจสอบสาร BY2 ทุเรียนส่งออก
แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2568 นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงนามในคำสั่งให้นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มาช่วยราชการที่กระทรวงเกษตรฯ และมอบหมายให้นางสาวนฤมล สงวนวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปรักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิชาการเกษตร
พร้อมกันนี้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง หลังจากที่มีหนังสือร้องเรียนจากสมาคมผู้ค้าและผู้ส่งออกผลไม้ถึง ศ.ดร. นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ โดยมีใจความว่า นายรพีภัทร์อาจมีส่วนรู้เห็นกับบริษัทเอกชนรายหนึ่งที่ประกอบกิจการห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ในการตรวจสอบสารย้อมสี BY2 ในทุเรียนส่งออก โดยบริษัทแห่งนี้เรียกเก็บเงินจากเกษตรกร ทั้งที่กรมวิชาการเกษตรยังไม่ได้รับรองให้บริษัทดังกล่าวทำหน้าที่ตรวจสอบสาร BY2 ได้
หนังสือร้องเรียนส่งมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 โดยขอให้ตรวจสอบการทุจริตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรที่เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอกชนรายหนึ่ง พร้อมแนบหลักฐานการโอนเงินและข้อความสนทนาเป็นหลักฐาน
ตามเอกสารร้องเรียนของสมาคมผู้ค้าและผู้ส่งออกผลไม้ระบุว่า ตามที่กรมวิชาการเกษตรได้ออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้สุ่มเก็บบางสินค้าเกษตรและอาหารด้านพืชเพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2568 นั้น ได้สร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกรอย่างหนักเนื่องจากต้องเสียค่าตรวจหาสาร BY2เพิ่มมากขึ้นทำให้ตกเป็นภาระของเกษตรกรซึ่งในส่วนนี้ควรจะเป็นหน่วยงานรัฐช่วยเกษตรกรมากกว่า ตั้งแต่ประกาศนี้ออกมาทำให้เกิดข้อสงสัยในกระบวนการสรรหาผู้ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐที่จะมาเป็นผู้ตรวจสอบหาสาร BY2 ซึ่งปัจจุบันนี้ได้มีแค่ 1 บริษัทที่ได้ลงพื้นที่ตรวจเก็บตัวอย่างและให้เกษตรกรโอนเงินเข้าบริษัทโดยวิธีการสแกนผ่านระบบ คิวอาร์โค้ด ทำให้เกิดข้อสงสัยในหมู่เกษตรกรว่า บริษัทนี้ใช้อำนาจอะไร เนื่องจากทราบว่า ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรยังไม่ได้ประกาศสรรหาหรือรับรองบริษัทที่จะมาทำการตรวจหาสาร BY2 แต่ทำไมถึงถึงมีบุคลากรของบริษัทเชิญชวนให้เกษตรกรใช้บริการจากบริษัท ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรชาวสวนทุเรียนจำนวนหนึ่งได้โอนเงินเข้าบริษัทดังกล่าวเป็นจำนวนมาก จึงขอให้รัฐมนตรีตรวจสอบว่าอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทหรือไม่ ถ้าพบขอให้ดำเนินการตามกฎหมายและกฎระเบียบอย่างถึงที่สุดเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและเกษตรกรชาวสวนทุเรียน
แหล่งข่าวยังบอกด้วยว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยมีนายถาวร ทันใจ รองปลัดกระทรวงฯ เป็นประธาน ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มีนาคม นายประยูรได้ลงนาม คำสั่งให้นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรมาช่วยราชการที่กระทรวงเกษตร ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องที่เกิดขึ้นด้วย
นอกจากปัญหาการร้องเรียนในเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว ยังมีการร้องเรียนเรื่องการก่อสร้างอาคารของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในสมัยที่นายรพีภัทร์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถตรวจรับงานได้. 512 – สำนักข่าวไทย