กรุงเทพฯ 2 ส.ค.- ปภ.ประสาน 67 จังหวัดเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรง 2 – 4 ส.ค. สั่งการเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดพร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็วเครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า พายุโซนร้อนซินลากู บริเวณอ่าวตังเกี๋ย กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก คาดว่าจะขึ้นฝั่งที่เมืองวินห์สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรง และร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคกลาง และภาคใต้
ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น คลื่นสูง2 – 3 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) จึงได้ประสาน 67 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางภาคตะวันออก และภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือ น้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 2 – 4 สิงหาคม 2563 แยกเป็น
สถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากดังนี้
ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอนเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน พิจิตร สุโขทัย ตาก อุตรดิตถ์พิษณุโลก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และอุทัยธานี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง 10 จังหวัด ได้แก่กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สมุทรสงคราม นครนายก เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์
ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ได้แก่ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ 11จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา นราธิวาสระนอง พังงา กระบี่ และภูเก็ต
สถานการณ์คลื่นลมแรง ดังนี้
ภาคตะวันออก 4 จังหวัดได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี
ภาคใต้ 8 จังหวัด ได้แก่ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
นายชยพล กล่าวว่า สั่งการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน พร้อมวิเคราะห์ ปัจจัยเสี่ยงและแนวโน้มสถานการณ์ภัยต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง จัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) รถปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมเผชิญเหตุ และช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที อีกทั้งประสานหน่วยงานในพื้นที่ อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างการรับรู้และแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ และประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิดตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางทะเลโดยเพิ่มการติดตั้งสัญญาณแจ้งเตือนภัยบริเวณชายฝั่งทะเลจัดเตรียมเครื่องมือประจำเรือและอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำให้พร้อมใช้งาน หลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง.-สำนักข่าวไทย