กกต. 14 ก.ค.-กกต. แจงกรณีตรวจสอบคุณสมบัติสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดชลบุรี ในระหว่างรับสมัคร กฎหมายให้ผู้สมัครยืนยันตัวเอง และตรวจสอบตามขั้นตอนกฎหมายกำหนด ชี้หากพบขาดคุณสมบัติ เข้าชื่อให้ประธานวุฒิส่งศาลรัฐธรรมนูญได้
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ชี้แจงหลังมีข่าวข้อมูลเกี่ยวกับสมาชิกวุฒิสภารายหนึ่ง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเมื่อปี 2567 ปรากฏว่ามีคดีอาญาอยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาล และมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งของบุคคลดังกล่าว ว่าเหตุใดจึงผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจาก กกต. ว่า การเลือกสมาชิกวุฒิสภา ในปี พ.ศ. 2567 เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดให้ผู้สมัครต้องยื่นใบสมัครพร้อมเอกสารหลักฐานประกอบการสมัคร และยืนยันรับรองว่ามีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนดด้วยตนเองต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งระดับอำเภอ
ในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร กกต.ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 13 และมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 โดยมีหน่วยงานสนับสนุนการตรวจสอบ จำนวน 26 หน่วยงาน หากผู้สมัครใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม จะได้รับแจ้งข้อมูลจากหน่วยงานสนับสนุนการตรวจสอบที่เป็นผู้รับผิดชอบข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ ลักษณะต้องห้ามที่เกี่ยวข้องกับประวัติอาชญากรรมหรือกระทำผิด หากคดียังไม่ถึงที่สุด ผู้สมัครดังกล่าวยังมิได้เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตามกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ยืนยันว่าทุกกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติเป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายอย่างเคร่งครัด
และหากภายหลังปรากฏพฤติการณ์ว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 82 บัญญัติว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (3) (5) (6) (7) (8) (9) (10) หรือ (12) หรือมาตรา 111 (3) (4) (5) หรือ (7) แล้วแต่กรณี และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้อง ส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่
เมื่อได้รับเรื่องไว้พิจารณา หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคำวินิจฉัยนั้นไปยังประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ผู้นั้นได้กระทำไปก่อนพ้นจากตำแหน่ง มิให้นับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาซึ่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคสองเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา ในกรณีที่กกต. เห็นว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาคนใดคนหนึ่งมีเหตุสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยตามวรรคหนึ่งได้ด้วย
สำนักงาน กกต. ขอยืนยันในความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามหลักนิติธรรมและหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้การเลือกและการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นไปอย่างสุจริต เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นรากฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย.-314.-สำนักข่าวไทย