รัฐสภา 28 พ.ค.- สภารับหลักการ ‘ร่าง กม.รฟม.’ พร้อมตั้ง กมธ.วิสามัญ 25 คน ‘กล้าธรรม’ เสนอ ‘งูเห่ากฤษฎิ์’ ร่วมคณะ ด้าน ‘สส.ปชน.’ ประกาศไม่รับ เหตุเป็นเพียงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของ ‘รัฐบาล’ เปิดช่องให้ล้วงกระเป๋าเอาเงินกว่า 1.6 หมื่นล้าน ขณะที่ ‘ชนินทร์’ รับ แก้กฎหมาย เพื่อดำเนินนโยบาย ‘รฟฟ. 20 บาทตลอดสาย’ ง่ายขึ้น ส่วน ‘จุติ’ ไม่เห็นด้วย ออกพันธบัตร-กู้เงิน พร้อมขอให้ทบทวน
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุมได้พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าเพื่อให้ รฟม.สามารถดำเนินกิจการรถไฟฟ้าและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการตั๋วร่วม ทำให้การเดินทางมีความสะดวก คล่องตัวแก่ประชาชน และรฟม.สามารถจัดหาประโยชน์ในทรัพย์สินซึ่งรวมถึงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อแสวงหารายได้ให้แก่หน่วยงาน ช่วยลดภาระงบประมาณภาครัฐ เช่นก ารพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานี, การบริหารจัดการพื้นที่โฆษณา, การให้เช่าพื้นที่ร้านค้า, การให้บริการ Wi-Fi
นอกจากนี้ให้ รฟม.สามารถออกพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารอื่นเพื่อประโยชน์แก่กิจการของ รฟม. นอกเหนือจากเพื่อการลงทุน ได้ และการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมการใช้ทรัพย์สิน ของ รฟม. ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จากเดิมต้องผ่าน ครม.

ด้านนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน อภิปรายว่า กฎหมายฉบับนี้เสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ดึงเงินสะสมมาอุดหนุนรถไฟฟ้าโครงการ 20 บาทตลอดสายตามที่รัฐมนตรีฯ ให้สัมภาษณ์ พร้อมตั้งคำถามถึงเรื่องค่าใช้จ่ายในการประสานงานแต่ละปี
เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ที่ได้มากับต้นทุน โดยเฉพาะเป็นการล้วงกระเป๋าของ รฟม. พร้อมหยิบยกเหตุผลที่เคยประกาศว่าโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทำไม่ได้ แต่รัฐบาลควรทำราคาค่ารถไฟฟ้า 8-45 บาทตลอดทาง มองระบบขนส่งการไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ พร้อมชี้แจงถึงเหตุผลที่ไม่เห็นด้วย 4 ข้อ ดังนี้
- ร่างกฎหมายวันนี้ เร่งรีบแซงคิวอย่างน่าเกลียด
- ร่างที่เข้าสภาแตกต่างจากที่รับฟังความเห็นมามาก
- เนื้อหาแก้ไม่ได้ตั้งใจทำให้ รฟม. ดีขึ้นแต่เป็นการแก้เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของรัฐบาล
- การลดภาระค่าเดินทางควรทำอย่างรอบคอบผ่านกลไกค่าโดยสารตั๋วร่วมที่ต้องคำนึงถึงผลระยะยาว
“พ.ร.บ. นี้มีมาเพื่อล้วงกระเป๋า รฟม. 16,000 บาท เพื่อมาทำนโยบาย 20 บาทให้อยู่ได้ 2 ปี ไม่ได้อยู่ยั่งยืนจีรัง ที่เหลือคือหนี้ที่ทุกคนจะต้องร่วมกันจ่ายและการตัดสินใจของรัฐบาลน่าจะจะเอาอย่างไรต่อกับเรื่องนี้ และการเลือกทำนโยบายแบบนี้แน่นอนประชาชนอาจจะไม่พอใจเพราะเคยจ่ายถูก แต่ถูกอย่างไม่สมเหตุสมผล การเสนอกฎหมายครั้งนี้ไม่ได้แก้ปัญหาให้ รฟม. แต่แก้ปัญหาที่รัฐบาลสร้างขึ้นไม่สมเหตุสมผล 20 บาทตลอดสายโดยจะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการล้วงกระเป๋า รฟม.” นายสุรเชษฐ์ กล่าว
ขณะที่ นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ร่วมอภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อแก้ไขและส่งเสริมกลไกการกำหนดค่าโดยสารในระบบรถไฟฟ้า โดยอาศัยรายได้จากการบริหารระบบรถไฟฟ้าเอง
ประเทศไทยประมูลสัมปทานรถไฟฟ้าแบบแยกสาย โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนแทนรัฐ และมีการคิดกรอบค่าโดยสารแยกเป็นรายสาย เพื่อให้เอกชนสามารถคืนทุนได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้ค่าโดยสารมีราคาสูง และเกิดค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อนจากการเปลี่ยนสาย ส่งผลให้การบริหารจัดการไม่มีความเชื่อมต่อ หลายรัฐบาลพยายามดำเนินการเรื่องนี้แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากหากจะดำเนินการให้ยั่งยืน จำเป็นต้องทำผ่านการตรากฎหมาย
นายชนินทร์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลเพื่อไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาขนส่งมวลชนให้มีราคาถูก สะดวกสบาย และใช้งานได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในหลายมิติ ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา มีการเสนอแก้ไขกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ขนส่งทางราง และ พ.ร.บ.การจัดการระบบตั๋วร่วม โดยจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อพิจารณาราคาค่าโดยสารที่เหมาะสม วิธีการบริหารจัดการ และรูปแบบการจ่ายให้มีมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงวางแผนโครงสร้างระบบรถไฟฟ้าและระบบตั๋วร่วมในอนาคต
นอกจากนี้ กฎหมายยังให้อำนาจในการออกพระราชกฤษฎีกา และกำหนดให้เอกชนทุกรายต้องเข้าร่วมระบบตั๋วร่วม เพื่อให้การดำเนินการนี้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งขณะนี้ ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับได้ผ่านการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการแล้ว และรอเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2-3 ของการประชุมสมัยหน้า หากผ่านความเห็นชอบ จะทำให้ระบบตั๋วร่วมเกิดขึ้นจริง มีราคาที่เหมาะสม และการบริหารจัดการเชื่อมโยงกัน
นายชนินทร์ ยังกล่าวถึงราคารถไฟฟ้าว่า พรรคเพื่อไทยได้เสนอให้อัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 20 บาทตลอดสาย โดยมีการประกาศนโยบายแล้วจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งภายในเดือนกันยายนนี้จะเริ่มใช้งานระบบตั๋วร่วมและค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายอย่างแน่นอน แต่อุปสรรคสำคัญคือ การลดราคาในช่วงที่เอกชนยังถือสัมปทานเดิมอยู่ ซึ่งอาจไม่เป็นธรรมต่อเอกชน ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องชดเชยรายได้ที่หายไปในระหว่างสัมปทานยังไม่สิ้นสุด โดยต้องหาวิธีชดเชยที่เหมาะสม ไม่ใช่การชดเชยทุกบาททุกเที่ยว
ทั้งนี้ เมื่อราคาค่าโดยสารถูกลง ประชาชนจะใช้บริการมากขึ้น แม้รายได้เฉลี่ยต่อคนจะลดลง แต่จำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นจะช่วยเพิ่มรายได้รวมในระบบ ทำให้ช่องว่างของรายได้ลดลง และส่งผลให้ภาครัฐต้องชดเชยน้อยลงตามไปด้วย
นายชนินทร์ ยังกล่าวว่า หากพิจารณากฎหมายที่เสนอ จะเห็นว่าเป็นการเพิ่มเติมให้องค์การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สามารถจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินของตนเองได้ เพื่อให้ในอนาคต รฟม. สามารถดำเนินกิจกรรมเพื่อหารายได้เพิ่มเติม ซึ่งรายได้นี้จะถูกนำมาชดเชยค่ารถไฟฟ้าของประชาชน
อีกทั้ง รฟม. ยังสามารถนำรายได้ที่จัดเก็บได้ ไปใช้สนับสนุนการดำเนินการของระบบตั๋วร่วม ซึ่งเป็นการตอบคำถามว่า รัฐบาลจะใช้งบประมาณจากไหนเพื่อทำนโยบาย20 บาทตลอดสายโดยเปลี่ยนจากการทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ มาเป็นการสนับสนุนระบบขนส่งสาธารณะให้เข้าถึงได้ในราคาประหยัด และหาแหล่งรายได้ทางเลือกแทน
ฝ่าย นายจุติ ไกรฤกษ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายโดยตั้งคำถามต่อผู้ชี้แจงว่า เห็นด้วยที่รัฐบาลต้องการให้ประชาชนใช้ค่าโดยสารถูก 20 บาทตลอดสาย แต่ถามไปยังคณะรัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่บริหารทรัพยากรที่ขาดแคลน ยอมรับว่านโยบายดังกล่าวเป็นประชานิยม
แต่ประชาชนเป็นผู้ใหญ่ แต่ถามว่ารัฐบาลจะสามารถทำได้นานแค่ไหนโดยไม่ต้องใช้เงินเงินอุดหนุน หรือหาวิธีอื่นนอกจากใช้เงินเงินกองทุน รฟม. และ รู้สึกตกใจ มีข้อมูลจากผู้อภิปรายคนอื่นว่า รฟม. มีหนี้_6 แสนล้านบาท และมีกองทุน1.6 หมื่นล้าน ซึ่งสุดท้ายประชาชนก็จะต้องเป็นผู้ใช้หนี้
“วันนี้ท่านทราบแล้วว่ามีผู้โดยสารประมาณวันละ 2 ล้าน คน ถ้าเผื่อลดราคาอาจเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านคน เป็นสิ่งประเสริฐมากว่ากรุงเทพมหานครสามารถดูแลคน 3 ล้านคนให้มีค่าโดยสารที่ถูกลง ลดค่าของชีพจริงแต่ขอถามเถอะว่าเงินที่เอามานั้นมาจากไหน เราอยากช่วยคนจนผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพมหานครให้มีค่าโดยสารที่ถูก แต่ถามว่าท่านกำลังเอาเงินภาษีจากคนทั้งประเทศจากคนจนกว่า มาอุ้มคนจนด้วยกันหรือ ซึ่งเป็นคำถามที่รัฐมนตรีต้องตอบต่อสภา” นายจุติกล่าว
นายจุติ กล่าวต่อว่า ตนไม่สบายใจกรณีการอนุญาตให้มีการออกพันธบัตรได้เอง เพราะห่วงฐานะเครดิตความน่าเชื่อถือของกระทรวงการคลัง หากแต่ละกระทรวงออกปฏิบัติได้เองจะสามารถคุมวินัยการเงินการคลังได้อย่างไร และต้องบอกว่าวันนี้รัฐบาลไทยไม่ใช่เศรษฐีซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังเป็นหนี้อยู่และยังต้องกู้ จึงต้องการฟังการชี้แจง การบริหารนวัตกรรมการบริหารค่าโดยสารโดยไม่ต้องหยิบเงินจากกองทุนหรือออกพันธบัตรกู้ โดยย้ำให้คำนึงถึงความคุ้มค่า เพราะว่าเงินนั้นไม่ว่าใครกู้รัฐบาลก็เป็นหนี้และผู้จ่ายคือประชาชน
“ฝากไปยังกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นว่าช่วยกันระดมสมองว่า 20 บาทตลอดสายเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ดีกว่าคือไม่ต้องใช้เงินเงินกู้ไม่ต้องใช้เงินเงินอุดหนุน ความคุ้มค่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับยาจกประเทศไทย เราไม่ใช่เศรษฐี” นายจุติ กล่าว
ท้ายที่สุด เมื่อเข้าสู่การลงมติ ผลปรากฏว่า ที่ประชุมรับหลักการร่างพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จากจำนวนผู้ลงมติ 442 เสียง เห็นด้วย 295 เสียง ไม่เห็นด้วย 144 งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง
พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการจำนวน 25 คน แบ่งเป็น สัดส่วน ครม. 6 คน, สส. 19 คน แบ่งเป็น พรรคประชาชน 6 คน,พรรคเพื่อไทย 6 คน, พรรคภูมิใจไทย 3, พรรครวมไทยสร้างชาติ 1 คน, กล้าธรรม 1 คน, พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน และพลังประชารัฐ 1 คน
ทั้งนี้ พรรคกล้าธรรม ได้ขอเสนอชื่อ นางสาวกฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ สส.ชลบุรี พรรคประชาชน ที่ขณะนี้ประกาศร่วมงานกับพรรคกล้าธรรมร่วมเป็นกรรมาธิการฯ.-312 -สำนักข่าวไทย