ทำเนียบ 19 พ.ค.- โรงเรียนสังกัด สพฐ. เปิดเทอมนี้ ครูไม่ต้องอยู่เวร ตามมติ ครม. ขอให้ยึดหลัก “เรียนดี มีความสุข” หนุน 5 ข้อปฏิบัติ ผลักดันสร้างนักเรียนคุณภาพ
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้เปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 พร้อมกันทั่วประเทศแล้ว โดย สพฐ. ได้วางแนวปฏิบัติ 5 ข้อ เพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนานักเรียน ด้วยหลัก “เรียนดี มีความสุข” มุ่งเน้นการลดภาระที่ไม่จำเป็นของครู บุคลากร นักเรียน และผู้ปกครอง เพื่อให้สามารถทำภารกิจหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบได้อย่างเต็มที่
นายคารม กล่าวต่อว่า สำหรับ 5 แนวทาง ที่ สพฐ. ให้สถานศึกษาปฏิบัติ เพื่อร่วมกันผลักดันเป้าหมายพัฒนานักเรียนได้อย่างมีคุณภาพ ดังนี้
1.ด้านความปลอดภัยของสถานศึกษา เน้นดูแลสวัสดิภาพนักเรียนทั้งในและนอกเวลาเรียน
2.ด้านการเสริมสร้างโอกาสในการเรียนรู้และสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น เยี่ยมบ้านนักเรียน 100% การจัดการเรียนเสริม และระบบแนะแนวที่ตอบโจทย์ตามบริบทผู้เรียน
3.ด้านการสร้างเครือข่ายและการสร้างความร่วมมือ ให้สถานศึกษาประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และชุมชน เพื่อร่วมกันดูแลความเรียบร้อยของโรงเรียน
4.ด้านงบประมาณ ให้ดำเนินการใช้จ่ายตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด
5.ด้านแผนเผชิญเหตุ ให้สถานศึกษาเตรียมพร้อมรับมือเหตุและภัยพิบัติต่างๆ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเกิดเหตุ พร้อมเฝ้าระวังสิ่งเสพติด เช่น บุหรี่ไฟฟ้า และปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะเข้าถึงนักเรียน
สำหรับการลงโทษนักเรียนนั้น สพฐ. ขอให้ครูยึดหลักจรรยาบรรณ และเคร่งครัดปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 กฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดโทษที่จะลงโทษแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทําความผิดได้ 4 มาตรการ ได้แก่ 1.การว่ากล่าวตักเตือน 2.ทำทัณฑ์บน 3.ตัดคะแนนความประพฤติ และ 4.จัดกิจกรรมเพื่อปรับเปลี่ยน
“ห้ามมิให้ใช้ความรุนแรง กลั่นแกล้ง หรือ ลงโทษในลักษณะทำให้นักเรียนอับอาย เช่น การตัดผมนักเรียนหน้าชั้นเรียน ซึ่งขัดต่อแนวทางการคุ้มครองสิทธิเด็ก”
นายคารมกล่าวต่อเรื่องการ “ให้ครูอยู่เวร” สถานศึกษายังคงต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 ที่ยกเว้นให้ครูไม่ต้องอยู่เวรโดยเด็ดขาด ผู้บริหารต้องไม่ใช้ถ้อยคำ หรือ คำสั่ง ในลักษณะใกล้เคียง เช่น “เวรความปลอดภัย” หรือ “เวรสมัครใจ” ซึ่งเข้าข่ายสุ่มเสี่ยงขัดมติคณะรัฐมนตรี
“ทั้งนี้ แต่ละสถานศึกษาสามารถกำหนดแนวปฏิบัติที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่น จัดทำกลไกเฝ้าระวังบุคคลภายนอกเข้ามาก่อเหตุ ห้ามพกอาวุธ ห้ามนำสิ่งผิดกฎหมายเข้ามาในโรงเรียน ต้องแต่งกายสุภาพ และไม่ก่อความวุ่นวายในพื้นที่ หากพบว่ามีการฝ่าฝืน ผู้เกี่ยวข้องต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง เพราะโรงเรียนคือพื้นที่เรียนรู้ที่ต้องปลอดภัย” นายคารม ระบุ.-315 -สำนักข่าวไทย