รัฐสภา 14 พ.ค.- กมธ.ป.ป.ช. ซัก 2 บริษัทออกแบบตึก สตง. ปมแก้แบบปล่องลิฟต์ บ.ฟอ-รัม อาร์คิเทค ยัน ไม่เคยแก้แบบ แต่ผู้รับเหมา-ผู้ตรวจงาน ขอคำปรึกษาระหว่างการก่อสร้าง ขณะ บ.ไมนฮาร์ท ยอมรับ แนะลดความหนาผนัง 5 ซม. เพื่อ บุหินอ่อน แต่ไม่รู้ทำตามหรือไม่ มั่นใจออกแบบแข็งแรง 100% ด้าน “พิมล” ยืนยัน เซ็นรับรองแบบจริงในฐานะที่ปรึกษาผู้ออกแบบ แต่ไม่เคยเห็นแบบที่แก้
คณะกรรมาธิการการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายฉลาด ขามช่วง เป็นประธานกรรมาธิการ พิจารณาตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ รวมถึงการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐในการอนุญาตในการอนุญาตควบคุมผลิตและผลิตและคุณภาพเหล็ก ในการก่อสร้างอาคารโดยได้เชิญกรมบัญชีกลางกรมสรรพากร และบริษัทผู้ออกแบบอาคาร
โดยในที่ประชุม นายธีรัจชัย พันธุมาศ สส. กทม. พรรคประชาชน ในฐานะรองกรรมาธิการ ได้จี้ถาม ถึงการออกแบบและการแก้แบบ โดยเฉพาะในส่วนของปล่องลิฟท์ ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกต ว่าสาเหตุของตึกถล่มอาจจะมาจากจุดดังกล่าว
นายสุชาติ ชุติปะภากร กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด ได้ชี้แจงว่า ทางบริษัทได้ยื่นได้ยื่นประมูลผ่านการเชิญของคณะกรรมการ จึงได้ใช้เวลาเตรียมข้อมูล ประมาณ 1 เดือน พร้อมเชิญบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) มาออกแบบร่วมกัน ในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบโครงสร้าง และหลังจากได้รับการคัดเลือก แบบได้ใช้เวลาออกแบบอาคาร ประมาณ 4 เดือน ไม่รวมระยะเวลาตรวจรับงาน ทำให้ระยะเวลาระยะเวลาทั้งหมดของการดำเนินการออกแบบ ประมาณ 11 เดือน ใช้บุคลากรกว่า 100 คน ซึ่งไม่มีการขอแก้แบบแม้แต่ครั้งเดียว แต่ ในระหว่างการก่อสร้าง มีการทำหนังสือขอคำแนะนำจากผู้รับเหมาก่อสร้าง และผู้ตรวจงาน ว่า ในส่วนของ core wall ซึ่งเป็นแกนกลาง ต้องมีการตกแต่ง โดยจะมีการบุหินอ่อน แต่ถ้าไม่ได้ก็จะไม่ดำเนินการ จึงได้ทำหนังสือถึงไมนฮาร์ท เมื่อหารือกันแล้วพบว่ามีแนวทางที่สามารถลดความหนาของผนังในบางส่วน แต่ต้องมีการเพิ่มโครงสร้างบางส่วน
ในขณะที่ นายธีระ วรรธนะทรัพย์ กรรมการบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) กล่าวว่า การให้ข้อมูลว่ามีการแก้แบบถึง 9 ครั้ง น่าจะเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เพราะเป็นการแก้ไขสัญญา ระหว่าง ผู้รับเหมาก่อสร้างกับ สตง. จำนวน 9 ครั้ง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับ ผู้ออกแบบ แต่เกี่ยวข้องกับการออกแบบโครงสร้าง 2 ครั้ง คือครั้งที่ 4 เรื่องปล่องลิฟท์ โดยเมื่อปี 2564 ทางบริษัทฟอ-รัม อาร์คิเทค ซึ่งเป็นสถาปนิก ได้ประสานมาว่า มีความขัดแย้ง ระหว่างแบบของการออกแบบภายใน กับแบบของสถาปัตยกรรมและโครงสร้าง เพราะเมื่อตกแต่งไปแล้ว จะทำให้ความกว้างของตัวลิฟท์ไม่ถึง 1.5 เมตร ทางเราจึงได้ให้คำแนะนำสถาปนิกไปว่า ให้ลดความหนาของผนังบางส่วน ของโครงสร้างไป 5 เซนติเมตร พร้อมปรับแก้เหล็กในโครงสร้างเพื่อให้สอดคล้อง กับการลดความหนาของผนังลิฟต์ จากนั้นไม่นาน ได้มีหนังสืออีกฉบับพร้อมแนบแบบ ที่มีการแก้ไขมาเพื่อถามว่าสอดคล้องกับสิ่งที่ให้คำแนะนำไปหรือไม่ ซึ่งขณะนั้นเป็นการเป็นการขอคำแนะนำ เพื่อนำไปใช้ในการแก้ไขสัญญาก่อสร้างซึ่งทางบริษัทไม่ได้มีข้อโต้แย้ง อะไร โดยที่ทางบริษัทไมนฮาร์ท ไม่ทราบว่าจะมีการดำเนินการตามคำแนะนำจริงหรือไม่ เพราะยังไม่มีคำสั่งว่าให้มีการแก้ไขแบบโครงสร้าง แต่ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้มีอำนาจ ในการอนุมัติให้ก่อสร้างหรือการแก้ไขแบบ มารู้ ข้อมูลอีกทีหลังเกิดเหตุติดตึกถล่มไปแล้ว พร้อมย้ำว่า บทบาทของผู้ออกแบบ เมื่อส่งมอบงาน ถือว่างานสิ้นสุดลง แต่สามารถให้คำปรึกษาระหว่างก่อสร้างได้ คนที่จะสั่งให้แก้ไขแบบได้มีแค่ สตง. ซึ่งต้องแจ้งมาอย่างเป็นทางการ คนอื่นสั่งไม่ได้
ทั้งนี้ นายจำนงค์ ไชยมงคล ในฐานะที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการ ได้สอบถามว่า หากการก่อสร้างไม่เป็นไปตามแบบจะส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของโครงสร้างหรือไม่ นายธีระ ได้ชี้แจงว่า เรื่องนี้ยังไม่สามารถตอบได้ แต่เรามีความมั่นใจ ว่าโครงสร้างที่เราออกแบบไป มีความแข็งแรง 100% ไม่มีปัญหา
นายฉลาด ได้ถามต่อว่า จากที่ดูคลิปตึกถล่มในฐานะวิศวกร ท่านมองว่ามีสาเหตุเกิดจากอะไร เมื่อท่านมั่นใจในการออกแบบจะเป็นเพราะการก่อสร้าง หรือวัสดุการก่อสร้าง นายธีระ ยอมรับว่า มีการตั้งข้อสังเกตส่วนหนึ่ง แต่คงไม่สามารถไปกล่าวหาว่าใช่หรือไม่ใช่ แต่ก็เป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้น
ด้านนายพิมล เจริญยิ่ง วิศวกรผู้ออกแบบตึก สตง. วัย 85 ปี ยืนยันว่าไม่เคยบอกว่าถูกปลอมลายเซ็น ที่ปรากฏในเอกสาร ตนเซ็นในฐานะที่ปรึกษาผู้ออกแบบ ยืนยันว่าได้ตรวจสอบแบบทุกหน้า และได้เซ็นเพียงครั้งเดียว ก่อนจะมีการส่งมอบงาน หลังจากนั้น ไม่เคยมีการส่งกลับมา ว่ามีการแก้ไขแบบแต่อย่างใด.-315- สำนักข่าวไทย