รัฐสภา 14 มี.ค.- “นันทนา” ขอ สว. ชะลอ ลงมติเลือก ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกไปก่อน หวั่น เป็นโมฆะ เหตุ ตรวจสอบที่มา สว. ยังไม่แล้วเสร็จ ด้าน “ทนายอั๋น” จวก สว. ชง ป.ป.ช. เอาผิด “ทวี” ส่อ ผิด ม.157
นางสาวนันทนา นันทวโรภาส สมาชิก วุฒิสภา และนายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ ทนายอั๋น บุรีรัมย์ ร่วมกันแถลงข่าวกรณีบทบาทของ สว.ระหว่างที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ กำลังตรวจสอบควรเป็นอย่างไรนั้น
โดยนางสาวนันทนา กล่าวว่า ในวันที่ 18 มี.ค.นี้ มีวาระพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน ที่ว่างลง ซึ่งในกระบวนการที่จะลงมติเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบนั้น ยังเป็นที่กังขาของสาธารณชนโดยทั่วไป เพราะขณะนี้การตรวจสอบที่มาของ สว.ทั้งหมด อยู่ในมือของ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว ซึ่งประชาชนก็ยังสงสัยการได้มาซึ่ง สว. ทั้งหลาย
ดังนั้น หากจะมีการลงมติในวันที่ 18 มี.ค.นี้ ก็อาจจะส่งผลกระทบในระยะยาว เนื่องจากการดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระนั้น มีอายุ วาระ 7 ปี ถ้า สว.ที่ไปลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ หากบุคคลนั้นเข้าไปดำรงตำแหน่งแล้ว เมื่อการตรวจสอบมีปัญหา ว่าไม่สุจริต ก็จะทำให้ผู้ที่เป็น สว. ขาดคุณสมบัติ และถ้าคนที่เป็น สว. ขาดคุณสมบัติแล้วไปลงมติเห็นชอบให้กับผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ จะส่งผลให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนั้น เป็นโมฆะ และจะเป็นผลกระทบระยะยาว
ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้บรรดาสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดชะลอการลงมติเห็นชอบองค์กรอิสระในวันที่ 18 มี.ค.นี้ไปก่อน จนกว่าการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะตรวจสอบจนสิ้นสงสัย ว่ากระบวนการได้มาซึ่ง สว. นั้นสุจริตโปร่งใส แล้วค่อยมาทำหน้าที่ลงมติกันต่อ
ด้านนายภัทรพงศ์ กล่าวว่า ในฐานะภาคประชาชน ตนก็ไม่เห็นด้วยที่จะมีการลงมติในวันอังคารนี้ ซึ่งตนมีข้อห่วงใย 3 ข้อ คือ ประการแรกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังเหลืออีก 7 คน ซึ่งสามารถพิจารณาคำวินิจฉัยได้ จึงไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ประการที่สองแม้กลุ่มสว.ดังกล่าว จะบอกว่ากระบวนการยังไม่สิ้นสุด ยังบริสุทธิ์อยู่ แต่การสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระเป็นเรื่องใหญ่ การที่กลุ่มสว. ไปแถลงข่าวทำนองว่า มีเรื่องของการเมือง และกลุ่มของพวกเขาเหล่านั้นอยู่คนละฝั่งกับอีกฝ่ายการเมืองในรัฐบาลปัจจุบัน แสดงว่าองค์กรอิสระที่ตั้งไปคงไม่มีความสง่างาม และไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต
และตนได้ไปยื่นเรื่องที่ ป.ป.ช. ให้สอบสวนกรณีสว.ใช้เวทีสภาฯ เอาผิดรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงยุติธรรมและอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI ว่าผิดมาตรา 157 หรือไม่ เป็นการแจ้งข้อความเท็จหรือไม่เพราะเขาก็ทำตามหน้าที่ แต่ก็เห็นว่าทางป.ป.ช.ยังไม่มีทำอะไร รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงยุติธรรมและอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI
นายภัทรพงศ์ ยังกล่าวว่า ในวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมากลุ่มสว.พากันไปยื่นเรื่อง ให้มีการตรวจสอบการทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมีชอบกรณีรับคดีฮั้วเรื่องสว. ในความผิดฐานฟอกเงิน ตนจึงไม่เห็นด้วยที่จะมีการลงมติตามเหตุผลที่ว่ามา.-315 -สำนักข่าวไทย